ส่องอนาคตเศรษฐกิจเมียนมาปี 2559รุ่งหรือร่วง?
ในปี 2558 ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้ง “ครั้งประวัติศาสตร์”
ซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2558 เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นการเลือกตั้งที่ครอบคลุม และโปร่งใสมากที่สุดในรอบ 25 ปี หลังประเทศสมาชิกอาเซียนแห่งนี้ต้องอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาเป็นเวลานาน และผลปรากฏว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรคฝ่ายค้านเมียนมา ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย
แม้ว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จะถูกกีดกันไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมา เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ของเมียนมาระบุไว้ว่าบุคคลที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่นางซูจีประกาศชัดว่าตนเป็นผู้นำพรรคซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง จึงจะบริหารประเทศ “เบื้องหลัง” ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง
นางออง ซาน ซูจี เดินหน้าทางการเมืองด้วยการเข้าพบ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แกนนำคนสำคัญของพรรคสหสามัคคี และการพัฒนา (ยูเอสดีพี) พรรครัฐบาลเมียนมา ซึ่งจะยัังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จในปี 2559 รวมถึง นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อเจรจาเรื่องแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล และการร่วมมือกันทำงานบริหารประเทศในอนาคต
การเจรจาดังกล่าวได้รับการประเมินจากนักวิเคราะห์ชาวต่างชาติว่าเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งบ่งชี้ว่ากองทัพ และขั้วอำนาจทางการเมืองเดิมของเมียนมายอมรับ นางออง ซาน ซูจี มากขึ้น เนื่องจากกองทัพยังมีที่นั่งในสภาอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในสภาสูง และสภาผู้แทนราษฎร เป็นผลจากข้อกำหนดในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่นักวิเคราะห์ในเมียนมายังไม่มั่นใจในท่าทีของกองทัพ และพรรคยูเอสดีพีว่าจะรักษาสัมพันธ์อันดีกับพรรคเอ็นแอลดีต่อไปอีกนานแค่ไหน เพราะ กม.รัฐธรรมนูญระบุว่ากองทัพสามารถแทรกแซงหรือยึดอำนาจรัฐบาลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ในกรณีที่เกิดเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า “เป็นภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงของชาติ
ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ และพรรคการเมืองเมียนมาจึงไม่เชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ากองทัพจะไม่แทรกแซงการบริหารประเทศในกรณีที่พรรคเอ็นแอลดีดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของกองทัพ และพรรคยูเอสดีพี แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดีทำให้เมียนมาได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศตะวันตกมากขึ้น ส่งผลให้มีการพิจารณาทบทวนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่บังคับใช้มานานกว่า 20 ปีในยุครัฐบาลทหาร เมียนมาจึงพร้อมเปิดประเทศต้อนรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มทุนตะวันตก หลังจากที่ผ่านมาเมียนมาเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศได้เฉพาะจีน และไทยเป็นหลัก ซึ่งภาพอนาคตอันสดใสในด้านการลงทุน การพัฒนา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจช่วยให้กองทัพเมียนมาเปิดโอกาสให้นางซูจี และพรรคเอ็นแอลดีกุมบังเหียนบริหารประเทศได้นานกว่าที่คิดก็เป็นได้ แต่คงต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัยประกอบกัน
เจาะนโยบายเศรษฐกิจเอ็นแอลดี
บริษัทที่ปรึกษา และวิจัยด้านการลงทุน และการตลาด “เคดับเบิลยูอาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายฌอน เทอร์เนลล์ ศาสตราจารย์พิเศษประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม็คควอรี่ของออสเตรเลีย และอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเอ็นแอลดี เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ในเว็บไซต์เคดับเบิลยูอาร์ฯ เพื่อถามความเห็นของนายเทอร์เนลล์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเอ็นแอลดี และปรียบเทียบว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของพรรครัฐบาลยูเอสดีพีอย่างไร
นายฌอน เทอร์เนลล์ เผยว่าพรรคเอ็นแอลดีมุ่งเน้นนโยบายสนับสนุนการเกษตรและการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ (1) ระบบสาธารณสุข (2) การศึกษา มากกว่าจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แบบพรรคยูเอสดีพี แต่พรรคเอ็นแอลดีอาจยังต้องสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่บางโครงการต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจติละวา เชื่อมต่อกับย่านชานเมืองของนครย่างกุ้ง ขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในเมืองทวาย และเจ้าผิว ซึ่งรัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมาพยายามผลักดันให้สำเร็จลุล่วง มีแนวโน้มว่าจะถูกระงับโครงการต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ประชาชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมในเมียนมาได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมาตลอด โดยระบุว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และแหล่งทำกินของชาวบ้านโดยไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะทรัพยากรธรรมชาติมีค่าเกินกว่าจะประเมินเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ ขณะที่ชาวบ้านบางรายไม่พอใจเพราะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมหลังถูกรุกไล่ออกจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ อีกทั้งพรรคเอ็นแอลดีมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นฐานเสียงจำนวนมาก หากพรรคเอ็นแอลดีได้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็มีแนวโน้มสูงว่าจะต้องรับฟัง และพิจารณาข้อเสนอของภาคประชาสังคม
เผย “ช่องโหว่” สกัดนักลงทุน
นายฌอน เทอร์เนลล์ ชี้ให้เห็นด้วยว่าระบบเศรษฐกิจของเมียนมามีช่องโหว่ขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติจำนวนหนึ่งหลีกเลี่ยงการลงทุนในเมียนมา โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ, การขาดแคลนระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค และการขนส่งที่จะรองรับการพัฒนา และโครงการต่างๆ ตลอดจนไม่มีองค์กรหรือระบบตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินธุรกิจต่างๆ อย่างโปร่งใส เป็นต้นตอให้เกิดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเรื้อรัง รวมถึงการผูกขาดตลาด ทำให้กลไกการแข่งขันไม่เกิดขึ้นจริง
ที่ผ่านมาการปกครองแบบรวมศูนย์ทำให้รัฐบาลกลางของเมียนมาใช้อำนาจตัดสินใจชี้ขาดในโครงการต่างๆ ได้เพียงลำพัง แต่สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ ของเมียนมา เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลบริหารทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น และประชาชนในหลายรัฐต้องการโอกาสที่จะจัดสรรและบริหารทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง
นอกจากนี้ ความขัดแย้งและการต่อสู้ปะทะนองเลือดระหว่างกองทัพรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาต่างๆ ในเมียนมาไม่คืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดนอกเหนือจากนโยบายด้านเศรษฐกิจของเมียนมา ได้แก่ การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศระหว่างรัฐบาลเมียนมา และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีกำหนดเจรจาอีกครั้งในปี 2559
หากการเจรจาสำเร็จ และมีการลงนามรับรองร่วมกันจากตัวแทนทุกฝ่าย จะส่งผลให้เริ่มการดำเนินงานในแผนสันติภาพเมียนมาต่อไป ซึ่งการยุติความขัดแย้งจะช่วยให้การกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเมียนมาชุดใหม่มีความชัดเจนขึ้น
ชี้“ช่องทาง” น่าสนใจอื่นๆ
บทสัมภาษณ์ของ นายฌอน เทอร์เนลล์ ระบุเพิ่มเติมว่า “การท่องเที่ยว” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมาจะต้องให้ความสนใจ เพราะนักท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเมียนมากำลังจะมีผู้นำรัฐบาลที่จากการเลือกตั้ง ทำให้ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลง ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวของพลเมืองอียูมายังเมียนมาสะดวกขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการงดเว้นวีซ่าเข้าประเทศเมียนมาก็พากันเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ ของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2557
ส่วนการลงทุนของบริษัทต่างชาติในเมียนมามีแนวโน้มที่ดีหากลงทุนด้านพลังงานด้านต่างๆ รวมถึงโครงการก่อสร้างแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะการพัฒนาประเทศ และการวางรากฐานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ต้องอาศัยพลังงานทั้งสิ้น และที่ผ่านมารัฐบาลไทย และจีน รวมถึงกลุ่มทุนเอกชน ไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเมียนมาอยู่แล้ว หากสถานการณ์ด้านการเมืองในเมียนมามีความคงที่ก็จะยิ่งช่วยให้การดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาลและกลุ่มทุนไทยเป็นไปอย่างราบรื่นเช่นกัน
ส่วนเว็บไซต์อาเซียนบรีฟฟิงของบริษัทวิจัยการตลาด และการลงทุนอาเซียน เผยความคืบหน้าในการเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์เมียนมา (YSX) ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2558 ดึงดูดการลงทุนได้กว่า 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 840 ล้าน) แต่ยังไม่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดจนกว่าจะถึงเดือนก.พ.2559 ขณะที่เมียนมาคาดว่าตลาดหุ้นจะเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับตลาดหุ้นเวียดนามซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2555 โดยช่วงปี 2557-2558 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในเมียนมารวมกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.8 แสนล้านบาท)
นอกจากนี้สำนักข่าวมิซซิมานิวส์ สื่อภาษาอังกฤษในเมียนมา ตามไปสัมภาษณ์ “อ็อกการ์ ทุน” ผู้บริหารสายการบินแอร์กัมบอว์ซา สายการบินภายในประเทศเมียนมา ซึ่งเปิดรับพนักงานหลายตำแหน่งจำนวนมาก เพราะทางสายการบินตั้งเป้าจะขยายธุรกิจและเปิดเส้นทางการบินเพิ่มในประเทศช่วงปี 2559 โดยตั้งเป้ารองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว จึงมุ่งเน้นบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านภาษา ทั้งยังคาดว่าธุรกิจการบินจะกระตุ้นให้มีการจ้างงานกว่า 2 ล้านตำแหน่งในเมียนมาภายในปี 2563
พรรคกลุ่มชาติพันธุ์ – ตัวแปรสำคัญ
แม้อนาคตการลงทุนด้านต่างๆ จะดูมีความหวัง และน่าสนใจ แต่สำนักข่าวมิซซิมานิวส์เตือนนักลงทุนต่างๆ ให้ติดตามความคืบหน้าเรื่อง “การเจรจาหยุดยิง” กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และการผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจะชี้วัดว่าการลงทุน และการดำเนินธุรกิจจะราบรื่นหรือไม่ เป็นผลจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งของรัฐบาลเมียนมา และกลุ่มทุนต่างประเทศ มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกองทัพ และกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์
ตัวอย่างผลกระทบที่เห็นได้ชัด ได้แก่ โครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ามิตส่ง ซึ่งรัฐบาลจีนมาลงทุนในรัฐคะฉิ่น ทางเหนือของเมียนมา ถูกระงับก่อสร้างตั้งแต่ปี 2554 หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ชาวจีนเสียชีวิต และบาดเจ็บ โดยรัฐบาลเมียนมาระบุว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธในรัฐคะฉิ่นซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาโดยตลาด ส่วนประชาชนในพื้นที่ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว หลังรายงานสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่งจัดทำขึ้น พบหลักฐานตรงกันว่าเขื่อนดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแม่น้ำอิระวดี ซึ่งอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน ทั้งยังทำลายวิถีชุมชนที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ริมแม่น้ำด้วย
การสานสัมพันธ์กับผู้นำ หรือตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเมียนมา เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาส่งผลให้พรรคที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์มีตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยรัฐบาลจีนปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากกรณีที่นายหง เหลียง เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา นัดคุยกับขุนทุนอู ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ทันที่ผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่าพรรคเอสเอ็นแอลดีกวาดชัยชนะทั้งหมด 24 ที่นั่งในสภารัฐฉาน รวมถึง 2 ที่นั่งในสภาสูง และ 12 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร และ นายหง เหลียง แถลงด้วยว่ารัฐบาลจีนต้องการขยายความร่วมมือจากเดิมที่เจรจากับรัฐบาลกลางเมียนมาเป็นหลักมาเป็นการเจรจาหารือกับกลุ่มผู้นำในระดับภูมิภาคโดยตรงบ้าง
การเจรจาดังกล่าวบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนยอมรับ และเพิ่มน้ำหนักให้แก่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเมียนมาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของ นางออง ซาน ซูจี ซึ่งไม่เคยได้รับการติดต่อจากรัฐบาลจีนเลยในช่วงที่ถูกคุมขังในบ้านพักนานกว่าสองทศวรรษ แต่เมื่อนางซูจีได้รับการปล่อยตัว และลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เมียนมาในปี 2554 จนได้รับชัยชนะ ส่งผลให้สถานะฝ่ายค้านของพรรคเอ็นแอลดีมีความเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลจีนจึงได้เชิญให้นางซูจีเดินทางเยือนจีนเป็นครั้งแรก และการเจรจากับผู้เล่นในเวทีการเมืองอย่างทั่วถึงจะช่วยให้การประเมินสถานการณ์ในเมียนมายิ่งชัดเจนขึ้น
ระเบิดเวลา “ค่าแรงขั้นต่ำ”
หนังสือพิมพ์อีเลฟเวน สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการเมืองของเมียนมา ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเมียนมาอาจได้รับผลกระทบจากการประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของเครือข่ายสหภาพแรงงานที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงช่วงต้นปี 2558 ซึ่งรัฐบาลเมียนมายอมกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ 3,600 จ๊าตต่อวัน จากเดิมที่แรงงานได้รับค่าแรงวันละประมาณ 1,500-2,500 จ๊าต โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ใน 108 เขตเศรษฐกิจ และเขตปกครองทั่วประเทศเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อทั้งกลุ่มทุน และแรงงาน เพราะโรงงานสิ่งทอหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรมตะลายยาร์ของเมียนมาสั่งปลดคนงานออกนับร้อยคน ขณะที่บางโรงงานยกเลิกเงื่อนไขสวัสดิการด้านต่างๆ แลกเปลี่ยนกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ค่าล่วงเวลา บริการพาหนะรับ-ส่ง ที่พัก และอาหาร ทำให้เครือข่ายแรงงานยกระดับการประท้วงขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 4,000 จ๊าต
นายวิน มอว์ ทุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเมียนมา จัดประชุมหารือกับกลุ่มเจ้าของธุรกิจสิ่งทอเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องค่าแรง หลังมีการเคลื่อนไหวประท้วงต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มทุนจากเกาหลีใต้ และจีนขู่ว่าจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องขึ้นค่าแรงของเครือข่ายแรงงานถูกปฏิเสธไป แต่แกนนำเครือข่ายแรงงานในเมียนมายืนยันว่าจะเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไปจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ
ปัญหาเรื่องค่าแรงในเมียนมาจึงเปรียบได้กับ “ระเบิดเวลา” ที่ไม่รู้ว่าจะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่
- ภัยธรรมชาติ-อุปสรรคที่ไม่อาจมองข้าม
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้น “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการลงทุนในประเทศเมียนมา โดยนายไจกาเนช มุรุเกศร ผู้เชี่ยวชาญด้านการบรรเทาความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ โครงการจัดตั้งชุมชนแห่งสหประชาชาติ (UNHSP) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวมิซซิมานิวส์ของเมียนมา เพื่อเตือนรัฐบาลเมียนมาให้ระมัดระวังในการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนา และขยายพื้นที่เมือง เนื่องจากหลายพื้นที่อยู่ในข่ายเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว หากการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่มีระบบต้านทานแผ่นดินไหว อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในอนาคต เพราะมีแนวโน้มว่าแผ่นดินไหวรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในเมียนมาครั้งต่อไปอาจมีขนาด 7-7.5 แมกนิจูด และจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวคาดว่าจะอยู่ในเขตสะกาย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา
นอกจากนี้เมียนมายังต้องเผชิญกับพายุไซโคลน และพายุในฤดูมรสุมอื่นๆ อยู่เป็นประจำ แต่การจัดการ และบรรเทาภัยพิบัติในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นของเมียนมายังไม่มีความพร้อม เห็นได้จากเหตุการณ์พายุไซโคลน “นาร์กีส” ถล่มเมียนมาเมื่อปี 2551 และรัฐบาลเมียนมาถูกนานาชาติโจมตี เพราะไม่เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ทำให้การกู้ภัย และการช่วยเหลือประชาชนล่าช้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 ราย รวมถึงประชาชนที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่น และไร้ที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนมาก.