ธุรกิจค้าพลอยแดงพม่าซบเซา
เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัว ส่งผลถึงธุรกิจค้าพลอยแดงในเมียนมาซบเซา ผู้ประกอบการค้าพลอยแดงบางส่วนต้องหันไปเล่นค้าสินแร่ชนิดอื่น ตั้งความหวังสถานการณ์ค้าพลอยแดงจะกระเตื้องขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า เพราะชาวจีนนิยมซื้อหาพลอยสีแดงมอบเป็นของขวัญให้กัน และกัน ขณะที่ผู้ค้าบางส่วนเชื่อว่าธุรกิจค้าอัญมณีเมียนมาซบเซา เพราะผลพวงจากรัฐบาลเมียนมาปรับเปลี่ยนระบบ
ธุรกิจการค้าพลอยแดง อัญมณีน้ำงามที่เมืองโมก๊ก (Mogok) เขตเมืองมัณฑะเลย์ อยู่ระหว่างประสบปัญหาซบเซาตลอดช่วงตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อีกทั้งเมียนมาเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เหล่าผู้ค้าพลอยแดงบางส่วนเปลี่ยนอาชีพหันไปค้าสินแร่ประเภทอื่นๆ กันในรัฐเขตปกครองของชนเผ่าคะฉิ่นทางภาคเหนือ
ผู้ค้าพลอยแดงรายหนึ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะ เมียนมา ไทม์ ระบุตั้งความหวังให้ตลาดค้าพลอยแดงจะกระเตื้องดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะนิยมซื้อพลอยแดงเป็นของฝากของกำนัลให้แก่กัน และกัน
ในอดีตทุกๆ ปีที่ผ่านมา ชาวจีนแผ่นดินใหญ่มักต้องการพลอยแดงมอบเป็นของขวัญช่วงตรุษจีน แต่ด้วยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากการเติบโตเฉลี่ย 10% เมื่อช่วงปี 2553 ลดลงเรื่อยๆ เหลือเฉลี่ย 6.5% ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะเป็นไปในลักษณะนี้ในปีหน้า 2559 ทำให้เหล่าผู้ค้าพลอยแดงตั้งความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นางดอว์ ลา ยี ผู้ค้าอัญมณีรายหนึ่งที่ตลาดค้าอัญมณีเมืองโมก๊ก ระบุพวกเราพยายามสร้างรายได้ แต่การค้าขายฝืดเคือง คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ส่วนนายอู ถันต์ เนือง พ่อค้าอัญมณีหลากหลายทั้งพลอยแดง หยก และพลอยสีอื่นๆ เจ้าเก่าแก่แห่งเมืองมัณฑะเลย์ ระบุความต้องการที่ลดลงของชาวจีนเป็นผลจากเศรษฐกิจการเมือง และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของรัฐบาลเมียนมา โดยผู้ค้าอัญมณีในเมืองโมก๊กถูกทางการสั่งห้ามจำหน่ายอัญมณีให้ชาวต่างชาติ ส่งผลให้พ่อค้าชาวจีนต้องลักลอบซื้อขายอัญมณีผ่านจากตัวแทนชาวพม่ามานานหลายปีแล้ว
ที่ผ่านมาธนาคารของประเทศจีนไม่เพียงแต่ยอมให้สินเชื่อแก่พ่อค้าอัญมณีเมียนมาเท่านั้น แต่ยังให้สินเชื่อแก่พ่อค้าหยก และพลอยที่มีค่าอื่นๆ ด้วย แต่เมื่อรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการเติบโตของสินเชื่อ จึงทำให้เศรษฐกิจค้าอัญมณีของเมียนมาทั้งระบบต้องชะลอตัว ส่งผลถึงอัตราส่วนเฉลี่ยการผิดสัญญาเงินกู้ของผู้กู้เชิงพาณิชย์พุ่งขึ้นถึง 1.59% ในท้ายไตรมาสที่ 3 ของปี ทั้งส่งผลให้คนงานเหมืองอัญมณีมากมายต้องย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ปี 2557 ชาวบ้านโมก๊กส่วนหนึ่งพากันย้ายไปทำงานที่ตะไน (Tanai) ในรัฐคะฉิ่น เพราะพวกเขาเป็นคนงานเหมืองที่มีประสบการณ์สูง รายได้ที่นั่นจึงสูงตาม แต่อีกบางส่วนยังจำเป็นต้องอยู่ทำงานในโมก๊กต่อไป ขณะที่ธุรกิจค้าอัญมณีรายใหญ่ๆ ในโมก๊กก็ตกไปอยู่ในมือบริษัทใหญ่ๆ ที่เจ้าของธุรกิจเป็นกลุ่มบุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาล
ผู้ค้าอัญมณีอีกรายระบุ ธุรกิจซบเซาเกิดจากผู้ค้าชาวจีนเข้ามาซื้อน้อยลง นักลงทุนไม่กระตือรือร้นที่จะซื้อ เพราะราคาต้นทุนสูง และไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า อีกทั้งพลอยแดงทับทิมคุณภาพเยี่ยมในโมก๊กที่เคยมีมากเหลือเฟือ ปัจจุบันนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว ถึงกระนั้นผู้ค้าพลอยแดงทับทิมก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่ อาทิ กลุ่มชาวพื้นเมืองเผ่าลีซอ (Lisu) และคะฉิ่น (Kachin) มีความชำนาญในการจัดการกับพลอยดิบ และอัญมนีที่ยังไม่เจียรไน ซึ่งมูลค่าธุรกิจแต่ละปีมหาศาล โดยมูลค่าพลอยดิบบางชิ้นแม้ว่าราคาจะตกอยู่เพียง 300-500 กีบต่อกะรัต แต่เมื่อเจียรไนแล้วจะได้ราคาสูงขึ้นมาก ขณะที่ตลาดค้าอัญมณีในเมืองโมก๊ก มีหลักๆ 2 แห่ง คือ ตลาด (Yote Shin Hta Pwae) เปิดตลาดช่วงเช้า และตลาด (Pan Chan Hta Pwae) เปิดตลาดหลังบ่ายโมง
นายมะขิ่น วิน ผู้ค้าอัญมณีรายหนึ่ง เผยว่า ลูกค้ายอมจ่ายราคาสูงที่สุดสำหรับทับทิม และไพลินคุณภาพสูง อัญมณีที่ดีที่สุดส่วนใหญ่จะถูกซื้อโดยลูกค้าต่างชาติ พวกเราชื่นชอบลูกค้าต่างชาติที่ไม่ต่อรองราคามากนัก พอพวกเขาไม่มา ทำให้พวกเราค่อนข้างลำบาก ส่วนโกะ เทียน วิน (Ko Thein Win) พ่อค้าอัญมณีอีกคน กล่าวว่า “ตลาดค้าอัญมณีจะฟื้นตัวอีกครั้ง ถ้าลูกค้าชาวจีนกลับมา”