สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภาคใต้
พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 31 พ.ค.–1 มิ.ย. 67 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย
คาดการณ์ : วันที่ 1-5 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 51% ของความจุเก็บกัก (41,071 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (16,821 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 5 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ศรีนครินทร์ และปราณบุรี
3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : 4.1 ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 5/2567 ลงวันที่ 25 พ.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 25–31 พ.ค. 67 มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออก จ. ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ. ชุมพร และระนอง
4.2 สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 23 – 31 พ.ค. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : สนทช. ติดตามสถานการณ์แม่น้ำจีนในพื้นที่ จ.นครปฐม ดังนี้
อ.บางเลน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พบปลาตายจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกหนักประกอบกับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 23 -31 พ.ค. 67 ทำให้อัตราการไหลของน้ำช้า เกิดการสะสมของสารอินทรีย์ สารเคมี และตะกอนส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาเกิดอาการน็อคน้ำตายจำนวนมาก โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ดำเนินการขยายทางน้ำ เพื่อรับน้ำจากคลองชลประทานทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น
อ.เมือง จ.นครปฐม พบปัญหาคุณภาพน้ำเสียในคลองพระยากง มีสาเหตุเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่แอบปล่อยน้ำเสียลงคลอง
ทั้งนี้ กรมประมง และกรมควบคุมมลพิษ ได้เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประสานกรมชลประทานเปิดน้ำเข้าคลองและแม่น้ำเพื่อไล่น้ำเสีย โดยที่กรมชลประทานจะปรับเพิ่มการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จาก 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที