ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว โฮมสเตย์ 3 วัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์
การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ที่สร้างมูลค่าให้การการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ต่อปีได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศ
แต่การท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศก็คือการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้โดยแท้จริง
ชุนชนบ้านน้ำเชี่ยวภายใต้การนำของ สุรัตนา ภูมิมาโนช ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด คือสถานที่ท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ว่าผู้ใดได้มาเยือนต่างก็ต้องหลงมนต์เสน่ห์ของความเป็นธรรมชาติ และวัฒนธรรม
-2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม
สุรัตนา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวให้ฟังว่า เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รวบรวม 2 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ และอิสลามเข้าไว้ด้วยกัน ผสานกับอีก 3 วัฒนธรรม โดยมีความเป็นวัฒนธรรมจีนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมีเทศบาลช่วยสนับสนุนจนถึงปี 2551 ก็เริ่มปล่อยให้ชุมชนดำเนินการกันเอง โดยเราได้รับการสนับสนุนทางด้านขององค์ความรู้ การบริหารจัดการที่เป็นระบบอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดเป็นโฮมสเตย์ในรูปแบบของชุมชนที่เป็นระบบ
“ ความโดดเด่นของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว คือ การที่มีวัฒนธรรมสองศาสนาอยู่ร่วมกันและมีวิถีชีวิตที่อิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติในคลองน้ำเชี่ยว ป่าชายเลน และทะเลอ่าวไทย ทำให้พื้นที่บ้านน้ำเชี่ยวริเริ่มทำการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และตั้งเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านน้ำเชี่ยว แม้เป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วยทะเลต้องเดินทางโดยสารโดยเรือเท่านั้น แต่กลับสร้างมนต์เสน่ห์ให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางชมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ขาดสาย ”
จากการที่ชุมชนบ้านนำเชี่ยวได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกที่ร่วมอยู่ในชุมชนกว่า 90 ราย จากเดิมที่มีอยู่เพียง 30 ราย โดยทุกคนจะได้รับการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมจาการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก ซึ่งชุมชนจะจัดสรรให้มีระบบหมุนเวียนกันไปในแต่ละบ้าน โดยสิ่งที่ได้กลับมาเป็นเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งก็คือ การที่เด็กซึ่งจากไปทำงานยังพื้นที่อื่นได้กลับมาอยู่ในชุมชน เพื่อทำงานด้านการท่องเที่ยว และได้มีโอกาสดูแลผู้มีพระคุณของตนเอง
–สัมผัสวิถีชุมชน
สุรัตนา บอกอีกว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะได้สัมผัสกับวิถีชุมชนอย่างแท้จริงจากการเข้าพักโฮมสเตย์ การเดินทางทางน้ำซึ่งเป็นพื้นที่หลักกว่า 70% รวมถึงการออกทะเลเพื่อทำประมงเก็บหอยปากเป็ดมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน ที่สำคัญยังได้เรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านที่โดดเด่นของชุมชนอย่าง หมวกงอบใบจาก รวมถึงลิ้มรสข้าวเกรียบยาหน้า และทอดมันถั่วที่ไม่เหมือนที่ใด ส่วนในยามค่ำคืนที่พระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้ายังมีกิจกรรมชมหิ่งห้อยที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งรวมอยู่ด้วย
บ้านน้ำเชี่ยวมีผลงานดีการันตีไปแล้วกว่า 30 รางวัล ได้แก่ รับเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion), รางวัลชนะเลิศการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ 2 ปีซ้อน ปี 2559 และปี2560 , รางวัลนวัตกรรมอาหารการสร้างมูลค่าเพิ่มของอาหารท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวประจำปี 2560 ได้รับการโหวตจาก ททท.เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และล่าสุดได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวดีเด่นด้านแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ จาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) เป็นต้น
“ เอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ เป็นสถาบันการเงินแห่งแรก ที่เข้าไปช่วยเติมเต็ม รวมถึงพัฒนา และส่งเสริมความรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเข้าสู่ระบบ หนุนเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย นอกจากนี้ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชนอีกหลายมิติ ทำให้สามารถเติบโตแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน ”
–วิถีชุมชนแบบยั่งยืน
สุรัตนา บอกต่อไปอีกถึงเป้าหมายในอนาคตของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวด้วยว่า เป้าหมายในลำดับถัดไปหลังจากที่เราสามารถทำให้เด็กกลับมาอยู่ และทำงานในชุมชนได้แล้ว จะต้องทำให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานโฮมสเตย์แบบวิถีชุมชนให้อยู่ได้แบบยั่งยืน โดยมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สืบสานการดำเนินการของรุ่นผู้ใหญ่ที่ทำไว้ทั้งการเก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง คืนชีวิตให้กับกุ้ง หอย ปู ปลาได้กลับมาเป็นวิถีชีวิตในรูปแบบเดิม ซึ่งเราจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ลงไป
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชุมชนต้องการได้รับการสนับสนุนก็คือจากหน่วยงานของภาครัฐในเรื่องของภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาเริ่มมีนักเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ และเดินทางมาท่องเที่ยวยังชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันก็มีหน่วยงานอย่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), การท่องเที่ยวและกีฬา และเทศบาล เป็นต้น ที่เข้ามาให้การสนับสนุน ซึ่งเราต้องการให้ดำเนินการต่อไป เพราะเราเชื่อว่าองค์ความรู้จะต้องมีการต่อยอดไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ
“ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นกาเข้ามาศึกษาดูงานประมาณ 60% เป็นรูปแบบของครอบครัว และชาวต่างชาติอีก 40% โดยเราตั้งใจให้ชุมชมบ้านน้ำเชี่ยวเป็นองค์ความรู้ทางด้านการท่องเที่ยวเป็นชุมชนต้นแบบ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการดำเนินชีวิตตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง และมีเรื่องราวของการทำขนมแบบวิถีชุมชนให้ได้ศึกษา ”