ธพ. เผย 10 เดือนปีนี้ ได้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 1.3%
ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือน เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนม.ค. – ต.ค. 2566 อยู่ที่ 152.17 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.3% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.9% การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 68.59 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.0% เนื่องจากในปี 2565 (ก.ย. – ต.ค.) มีการใช้น้ำมันดีเซลพื้นฐานเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.17 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 60.6% เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.93 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.8% การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.36 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.8%
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังได้มีการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลพิษ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 โดย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่เป็นระดับยูโร 5 และยูโร 6 และมอบให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงานบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ทั้งนี้ จะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
“ขอให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์มั่นใจ น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ และช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า รถยนต์มาตรฐานยูโร 3 และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดเมื่อใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24% อีกด้วย” นางสาวนันธิกา กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามมติ กพช. โดยปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่เป็นน้ำมันฐานของประเทศจะมีการผสมไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ 7% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สามารถใช้กับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ค่ายรถยนต์ให้การยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นน้ำมันทางเลือก เริ่ม 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดชนิดน้ำมันดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในปัจจุบันมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลอยู่ที่ 7% อยู่แล้ว โดยมีการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.33 ล้านลิตร/วัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.77 ล้านกก./วัน และคาดว่าในปี 2567 จะมีการใช้ไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.66 ล้านลิตร/วัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.88 ล้านกก./วัน ตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กพช. ได้มอบหมายให้ ธพ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการอุปทานน้ำมันปาล์มหากได้รับผลกระทบจากการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลดังกล่าว