SCB EIC วิเคราะห์ Thailand Taxonomy อีกหนึ่งคัมภีร์นำทางธุรกิจพลังงานไฟฟ้า
ESG เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ และมีบทบาทต่อการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชน หลายภาคส่วนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญประเด็นด้าน ESG
โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ตื่นตัวมากขึ้น บ่งชี้จากเกณฑ์การกำกับที่มากขึ้น (จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัว จากปี 2016 ที่มีเพียง 55 กฎระเบียบ เพิ่มขึ้นเป็น 256 กฎระเบียบ ในปี 2021) ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือกันของนานาประเทศผ่านความตกลงปารีสที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2016 ยังผลให้ภาคธุรกิจ และนักลงทุนต้องให้ความใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็น ESG โดยเฉพาะในภาคพลังงาน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั่วโลก
ตลาดการเงินสีเขียว… หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวด้าน ESG ภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่ถูกกดดันจากกฎระเบียบด้าน ESG ที่มากขึ้น แต่ยังคงถูกกดดันจากภาคการเงินที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน (เช่น การเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ยั่งยืนต่อสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก และบางธนาคารก็เริ่มออกจากการให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ไม่มีแผน Transition ที่น่าเชื่อถือ) ส่งผลให้การระดมเงินทุนของธุรกิจมุ่งเน้นไปที่โครงการที่ส่งเสริม ESG หรือโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้การระดมเงินทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี สอดรับไปกับการปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับกระแส ESG โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นการระดมเงินทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค โดยธุรกิจพลังงานหมุนเวียนฯ มีการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 สูงถึง 8.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงกว่าช่วงปี 2014-2018 ถึงราว 176% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด
ปัญหาฟอกเขียว… ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ปัญหาฟอกเขียว เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย ESG รวมถึงอาจมีผลต่อการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินสีเขียวเติบโตก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาฟอกเขียวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน (จากฐานข้อมูลของ RepRisk จำนวนเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็น ESG ขององค์กรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019-2022 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1,000 ครั้งต่อปี เทียบกับช่วงปี 2014-2018 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 100 ครั้งต่อปี) โดยภาคธุรกิจใหญ่ที่สุดที่เกิดปัญหาฟอกเขียว คือ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะระดับโลก
Green taxonomy ตัวช่วยเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาฟอกเขียว หนุนตลาดการเงินสีเขียว ปัญหาฟอกเขียวในหลายครั้งเกิดจากการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีมาตรฐานสำหรับจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว หรือ Green taxonomy จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมสีเขียว จะทำให้หลายฝ่ายสามารถใช้เป็นแนวทาง โดยเฉพาะภาคการเงิน ซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญสำหรับธุรกิจ นอกจากนี้ ธุรกิจก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย ESG ในแนวทางเดียวกันได้ และลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องในกรณีเกิดปัญหาฟอกเขียว Green taxonomy หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Taxonomy” คือ ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดรับไปกับประเด็น ESG และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับไทยเลือกใช้เกณฑ์การระบุกิจกรรมสีเขียวด้วยเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ EU และสอดคล้องไปกับ ASEAN Taxonomy ทั้งนี้ไทยได้มีจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ซึ่งนำมาใช้กับกิจกรรมภาคพลังงาน (ฝั่งอุปทาน หรือ Supply) และภาคขนส่งก่อน
แนวทางของการปรับตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้า หากต้องการดำเนินธุรกิจที่สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฝั่งอุปทานในการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และความเย็น รวมถึง การส่ง-จ่ายไฟฟ้า ทั้งนี้จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy จะพบว่าไม่เพียงแต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีโอกาสในการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียว จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 หากธุรกิจต้องการดำเนินกิจการให้สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว ธุรกิจจำเป็นต้อง…
เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น เนื่องจาก Thailand Taxonomy ระบุว่าเป็นกิจกรรมสีเขียว (ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้กับธุรกิจ/โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ในสถานีจำหน่ายน้ำมัน)
ปรับปรุงกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและชีวภาพ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ตามมาตรฐานของ Thailand Taxonomy รวมถึงที่มาของวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ
มุ่งเน้นพัฒนา Green hydrogen เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ หากหันมาใช้ Green hydrogen และตั้งเป้าปล่อย GHG ไม่เกิน 100 gCO2e/kWh ภายในปี 2040 และหลังปี 2040 ตั้งเป้าปล่อยไม่เกิน 50 gCO2e/kWh
หลีกเลี่ยงการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2023 และกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถือว่าเป็นกิจกรรมสีแดง
Green taxonomy เป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าควรพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำลง Green taxonomy ถือว่าเป็นแนวทางที่ธุรกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงและมีโอกาสปรับลด GHG ได้ยาก เช่น ธุรกิจพลังงานและธุรกิจโรงไฟฟ้าในยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับงบลงทุนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy มากกว่าธุรกิจอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวไปสู่กิจกรรมสีเขียว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ ตามปกติการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตราสารหนี้สีเขียวจะมีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป หรือเรียกว่ามี
Greenuim ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มของ Greenium น่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องด้วยความต้องการในตราสารหนี้ สีเขียวที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง (เนื่องจาก 1. ตราสารหนี้สีเขียวมีความ Defensive มากกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป 2. การเคลื่อนไหวของ Greenium ยังดึงดูดให้นักลงทุนที่เน้น Alpha opportunities เข้ามาลงทุน และ 3. เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะถือครองตราสารหนี้สีเขียวมากขึ้น)
นอกจากนี้ สินเชื่อสีเขียวมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินเชื่อปกติ ทั้งนี้การผลักดันจากทั้งภาครัฐ ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำต่าง ๆ และองค์กรนานาชาติ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ (ผ่านมาตรการที่หนุนให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อปกติ) ท่ามกลางการให้ความสำคัญต่อการให้สินเชื่อสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้นของธนาคารเอกชนหลายแห่งทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan (SLL) ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากถ้าธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานทางธุรกิจให้ได้ตามเงื่อนไขด้าน ESG อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลง เพื่อสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจดำเนินการด้าน ESG ได้ตามเป้าหมาย สำหรับไทย แม้ว่าการเงินสีเขียวจะค่อนข้างเติบโตได้ดีในกลุ่มตราสารหนี้ แต่ SCB EIC เชื่อว่า Thailand Taxonomy จะเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อสีเขียวทำได้ดีขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นความชัดเจนในกิจกรรมสีเขียวมากขึ้น ท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจในด้าน ESG ที่สอดรับกัน เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินในโครงการ ESG ผ่านสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้นความท้าทายบางประการในการประยุกต์ใช้ Taxonomy ที่หากข้ามผ่านได้อาจหนุนการเงินสีเขียวเร่งตัวได้ดีขึ้น
แม้ว่า Green taxonomy จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อสีเขียว แต่ยังมีความท้าทายบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ 1. การประยุกต์ใช้ Green taxonomy กับกิจกรรมเศรษฐกิจยังจำกัดอยู่ในบางกิจกรรมและยังไม่กว้างขวางเพียงพอ 2. การสร้างกลไก Green(bank)-to-Green(company) เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตได้ดี โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินพยายามปรับตัวตาม Net zero pathway และอาจนำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวใหม่ ๆ และ 3. กำหนด Green capital requirement เพื่อให้สถาบันการเงินรับมือกับความเสี่ยงด้าน ESG ที่จะมีผลต่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน
ESG มีบทบาทต่อการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างไร ?
หลายภาคส่วนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญประเด็นด้าน ESG (Environment-Social-Governance) โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม บ่งชี้จากเกณฑ์การกำกับที่มากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวตาม จากข้อมูลของ MSCI ระบุว่าจำนวนกฎระเบียบด้าน ESG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทั่วโลกจากปี 2016 ที่มีจำนวนเพียง 55 กฎระเบียบ (Items of regulation) เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปี 2019 เป็น 139 กฎระเบียบ และเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 256 กฎระเบียบ ในปี 2021 โดยกว่า 80% ถูกกำกับโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และกว่า 15% ถูกกำกับโดยหน่วยงานกำกับด้านการเงิน ด้านอุตสาหกรรม และด้านกฎหมาย
การเร่งเพิ่มจำนวนของกฎระเบียบด้าน ESG ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือกันของนานาประเทศผ่านความตกลงปารีส (Paris agreement) ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2016 ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 รวมถึงความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้หลายประเทศทั่วโลกพยายามดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อชะลอการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) ทั้งนี้จะพบว่าในกฎระเบียบใหม่ด้าน ESG ของภาครัฐทั่วโลกที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับ 1. การพยายามให้ภาคเอกชนเข้าใจและรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 2. การส่งเสริมให้นำพลังงานทางเลือกมาใช้เพิ่มขึ้น และ 3. การเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ
แรงกดดันด้านกฎระเบียบ ESG ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องให้ความใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็น ESG โดยผลการสำรวจ ESG ในเดือน ธ.ค. 2020 ของ NAVEX Global[1] ที่สอบถามผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ และยุโรป พบว่า 88% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, 79% ของบริษัทร่วมลงทุน และ 67% ของบริษัทเอกชนทั่วไป มีการริเริ่มโครงการด้าน ESG แล้ว ขณะที่ S&P Global Market Intelligence ระบุว่า 80% ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังรายงานความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรายงานถึงการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของประเทศไทย ผลการสำรวจของ Deloitte ในปี 2022 ระบุว่า 51% ของ 106 บริษัทชั้นนำของประเทศ (ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก) ได้จัดทำรายงานและมีตัวชี้วัดด้าน ESG และ 85% ของฝ่ายงานบัญชีและการเงินมองว่า ESG มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในด้านการเงิน
การปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกิดขึ้น กลุ่มที่ถูกจับตามากที่สุดเป็นภาคพลังงาน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั่วโลก ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไปในภาคพลังงาน จะพบว่าเกือบครึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานมาจากภาคพลังงานไฟฟ้าและความร้อน จึงเป็นเหตุผลให้รายงานฉบับนี้ มุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ
ตลาดการเงินสีเขียว… หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวด้าน ESG
ภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่ถูกกดดันจากกฎระเบียบด้าน ESG ที่มากขึ้น แต่ยังถูกกดดันจากภาคการเงินที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการระดมเงินทุนของธุรกิจให้มุ่งเน้นไปสู่โครงการที่ส่งเสริม ESG หรือโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้สถาบันการเงินเอกชนเป็นภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการรายงานด้าน ESG มากกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ พร้อมทั้งสถาบันการเงินหลายแห่งของโลกก็มีเป้าหมายเพิ่มสินทรัพย์ยั่งยืนต่อสินทรัพย์ทั้งหมดมากขึ้น โดย 9 ใน 15 สถาบันการเงินโลกที่มีมูลค่าสินทรัพย์ยั่งยืนเป้าหมายมากที่สุดตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนสินทรัพย์การเงินยั่งยืนมากกว่า 40% ของสินทรัพย์ทั้งหมดภายในปี 2030 ขณะที่บางธนาคารก็เริ่มงดการให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงที่ไม่มีแผน Transition ที่น่าเชื่อถือ เช่น NatWest group ในอังกฤษที่เริ่มดำเนินการกับออกจากการให้บริการทางการเงินให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น
สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทยก็มีเป้าหมายด้าน ESG ที่ชัดเจนไม่ต่างจากโลก ดังจะเห็นได้จากการประกาศเจตนารมณ์ด้าน ESG ของสมาคมธนาคาร ที่ธนาคารสมาชิกเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการตามแนวทาง 6 ประการ ดังนี้ 1. สร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผล 2. บูรณาการพันธกิจด้าน ESG ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ 3. ผนวกรวมประเด็น ESG ไว้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง 4. ปรับใช้นวัตกรรมทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน 5. สื่อสารและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในประเด็น ESG และ 6. พัฒนาระบบการติดตามและการรายงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลของไทยและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากล นอกจากนี้ ในหลายธนาคารของไทยมีแผนและเป้าหมายในการสนับสนุนการเงินสีเขียวที่ชัดเจน
การระดมเงินทุนสำหรับกิจกรรมสีเขียวและความยั่งยืน (Green and sustainable finance) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี สอดรับไปกับการปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับกระแส ESG โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นการระดมเงินทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค (Utilities) ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของ Bloomberg จะพบว่าภาคธุรกิจระดมเงินทุนในตลาดการเงินสีเขียวของโลกในช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 มีมูลค่าสะสมสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ไม่นับรวมการระดมเงินทุนของหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงิน) เพิ่มขึ้นจากมูลค่าสะสมในช่วงปี 2014-2018 ที่ 4.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราว 35% เป็นการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค (Utilities) ทั้งนี้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนฯ มีการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. 2023 สูงถึง 8.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงกว่าช่วงปี 2014-2018 ถึงราว 176% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (Green and sustainable bonds) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 2014-2018 ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงดังล่าว โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว (Long tenor) ขณะที่ในการระดมเงินทุนผ่านตลาดสินเชื่อแม้จะมีสัดส่วนลดลงจากสินเชื่อสีเขียว (Green loan) แต่สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan : SLL) กลับมีบทบาทมากขึ้นอย่างเด่นชัด
สำหรับไทย กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภค ก็มีการระดมเงินทุนในตลาดการเงินสีเขียวในอัตราที่ขยายตัวสูงเช่นเดียวกันกับตลาดโลก โดยในช่วงปี 2019-เดือน ส.ค. ปี 2023 มีมูลค่าระดมเงินทุนสะสมอยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงกว่าในช่วงปี 2014-2018 (มูลค่าสะสมที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถึงราว 167% ซึ่งมาจากการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในสัดส่วนสูงถึง 87% ของการระดมเงินทุนทั้งหมด (เทียบกับโลกที่มีสัดส่วนเพียง 51%) ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว (Long tenor) ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนต้องการล็อกต้นทุนของตนเอง นอกเหนือไปจากความต้องการระดมเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมสีเขียวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องไปกับเป้าหมาย ESG ของภาคธุรกิจ
ปัญหาฟอกเขียว… ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว
ปัญหาฟอกเขียว (Greenwashing) เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย ESG รวมถึงอาจมีผลต่อการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว (Green finance) โดยการฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Greenwashing คือ การเปิดเผยข้อมูลหรือข้อความที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินความเป็นจริง เพื่อหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไรบนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม[1] เช่น ในกรณีของ Drax group บริษัทในสหราชอาณาจักรที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า ที่มีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานจากถ่านหินมาเป็นพลังงานชีวมวล พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเงินค้ำประกันจากกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร โดย Drax มักมีการระบุอยู่บ่อยครั้งว่า การหันมาใช้พลังงานจากถ่านหินไปเป็นพลังงานชีวมวลจะทำนำมาสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงหนุนต้นทุนพลังงานให้ลดลงในอนาคต นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า โรงไฟฟ้าของ Drax ถือว่าเป็นโครงการที่มีการกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่แท้ที่จริงแล้วกลับพบว่า การเผาไหม้ไม้ชีวมวลในโรงไฟฟ้าของ Drax มีการปล่อยก๊าซ CO2 ในระดับที่สูงกว่าพลังงานถ่านหิน
ปัญหา Greenwashing ของโลกที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญมาจากทั้งการแข่งขันในการนำเสนอสินค้า บริการ รวมถึงการลงทุนด้าน ESG ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคและนักลงทุน ท่ามกลางแรงกดดันจากกฎระเบียบของภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลก และการตรวจสอบของกลุ่มสื่อและกลุ่ม NGOs ต่าง ๆ รวมถึงการขาดความเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ
ท่ามกลางการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียว ปัญหาฟอกเขียวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน โดยภาคธุรกิจใหญ่ที่สุดที่เกิดปัญหาฟอกเขียว คือ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค จากฐานข้อมูลของ RepRisk จำนวนเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็น ESG ขององค์กรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019-2022 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1,000 ครั้งต่อปี เทียบกับช่วงปี 2014-2018 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 100 ครั้งต่อปี ซึ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ปัญหาฟอกเขียวเพิ่มมากขึ้น (สัดส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 35% จาก 28% และ 27% ในปี 2018 และ 2013 ตามลำดับ) โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะระดับโลก ที่จำนวนเหตุการณ์ Greenwashing มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ในปี 2021 ปัญหาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของเหตุการณ์ Greenwashing ในด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 20% ในปี 2013 ขณะที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ลดสัดส่วนลง โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบที่มีต่อภูมิทัศน์ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ) นอกจากนี้ หากพิจารณาจำนวนเหตุการณ์ Greenwashing ที่เกิดขึ้น จะพบว่าภาคพลังงานและสาธารณูปโภค (เช่น น้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า) ยังคงเป็นภาคที่ใหญ่สุดที่เกิดเหตุการณ์ Greenwashing ด้วยสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของเหตุการณ์ Greenwashing ทั้งหมดในปี 2021
ปัญหาฟอกเขียวในหลายครั้งเกิดจากการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และสังคม ซึ่งการมีมาตรฐานในการจัดประเภทกิจกรรมสีเขียว หรือ Green taxonomy น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาฟอกเขียวลงได้ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมสีเขียวเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคการเงิน ซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญสำหรับธุรกิจ (ทั้งในแง่ของตลาดสินเชื่อ ตลาดตราสารหนี้ และรวมถึงตราสารทุน) เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อบรรลุเป้าหมาย ESG ในแนวทางเดียวกัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้อง/จ่ายค่าปรับในกรณีเกิดปัญหาฟอกเขียว เช่น Southern California Gas Company : SoCalGas ที่ถูกฟ้องร้องว่ากล่าวอ้างเกินจริงเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน ทำให้ SoCalGas ต้องจ่ายค่าปรับให้ทางการ 1.75 แสนดอลลาร์สหรัฐ
Taxonomy คืออะไร ? Thailand taxonomy ระยะที่ 1 มีอะไรบ้าง ?
Green taxonomy หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Taxonomy” คือ ระบบการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์และรายได้ของธุรกิจ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่สอดรับไปกับประเด็น ESG และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดย Green taxonomy เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2013[1] โดย The Climate Bonds Initiative (CBI)[2] ซึ่งถูกเรียกว่า Climate bonds taxonomy โดย Green taxonomy ดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางสำหรับการบริหารสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้คำจำกัดความของธุรกิจสีเขียว เพื่อใช้เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อให้นักลงทุนและรัฐบาลเข้าใจว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดบ้างจะทำให้เกิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) เป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่นำ Green taxonomy มาประยุกต์ใช้ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาฟอกเขียวและช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำมาสู่การบรรลุ วัตถุประสงค์ของนโยบาย European green deal (ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อเข้าสู่ Carbon neutrality ภายในปี 2050) นอกจาก EU แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ได้นำ Green taxonomy มาประยุกต์ใช้เช่นกัน
รูปแบบการประเมิน Green taxonomy ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามความแตกต่างของวิธีหรือเกณฑ์ในการระบุกิจกรรมสีเขียว (รูปที่ 2) โดย 1. การจัดกลุ่มกิจกรรมโดยระบุกิจกรรมเฉพาะเจาะจง (Whitelist based taxonomies) ซึ่งจะทำการระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกิจกรรม/เทคโนโลยีสีเขียวในแต่ละภาคส่วน เช่น Chinese Taxonomy จะทำการกำหนดกิจกรรมสีเขียวที่ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนิยามกว้าง ๆ เป็นต้น 2. การจัดกลุ่มกิจกรรมตามเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค (Technical screening criteria-based taxonomies) ซึ่งจะกำหนดตัวชี้วัดเชิงประเมินและเงื่อนไขในการคัดกรองกิจกรรมเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยใช้ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology-neutral) ในการคัดกรองและไม่ได้กำหนดเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะในแต่ละภาคส่วน และ 3. การจัดกลุ่มกิจกรรมตามหลักการอย่างกว้าง (Principle-based taxonomies) ซึ่งจะกำหนดชุดของหลักการหลัก ๆ โดยไม่ระบุกิจกรรม/เงื่อนไขที่ต้องสอดคล้อง
ไทยเลือกใช้เกณฑ์การระบุกิจกรรมสีเขียวด้วยเกณฑ์ประเมินทางเทคนิค (Technical screening criteria-based taxonomies) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ EU และสอดคล้องไปกับ ASEAN Taxonomy ทั้งนี้ไทยพยายามพิจารณาและกำหนดเกณฑ์สำหรับ Thailand Taxonomy ให้สอดคล้องไปกับ Taxonomy อื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อลดความขัดแย้งและสับสนในการใช้งานจริง รวมถึง ASEAN Taxonomy ที่มีการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้กับประเทศสมาชิกใน ASEAN (รวมไทย) โดยเฉพาะเกณฑ์การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยระบบ Traffic light system เพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่างกิจกรรมตามการลดก๊าซเรือนกระจก ไทยได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับ Thailand Taxonomy ด้วยเช่นกัน (รายละเอียดตาม Box 1)
Box 1 : ระบบ Traffic light system ของ ASEAN Taxonomy ที่ไทยนำมาประยุกต์ใช้
ASEAN Taxonomy เป็น Taxonomy กลางของกลุ่มประเทศ ASEAN ที่จัดทำขึ้นโดย ASEAN Taxonomy Board (ATB) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักด้านสิ่งแวดล้อม 4 ข้อ คือ 1. การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4. การสนับสนุนการบริหารทรัพยากรให้ยืดหยุ่น/การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เกณฑ์การจัดกิจกรรมของ ASEAN Taxonomy จะใช้ระบบ Traffic light system เพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่างกิจกรรมตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญ ได้แก่ สีเขียว (กิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) สีเหลือง (กิจกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดจุดสิ้นสุดของการปรับตัว) และสีแดง (กิจกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้) โดยเกณฑ์การแบ่งกิจกรรมจะแยกออกเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับพื้นฐาน (Fundamental framework tier) เพื่อจัดกิจกรรมตามหลักการอย่างกว้าง และ 2. ระดับเงื่อนไขและตัวชี้วัดเพิ่มเติม (Plus standard tier) เพื่อจัดกิจกรรมตามเกณฑ์การประเมินทางเทคนิค เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ไทยได้ประยุกต์ใช้ระบบ Traffic light system ข้างต้นด้วยเช่นกัน
ไทยได้มีการจัดทำ Thailand Taxonomy โดยดำเนินการระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2023 ซึ่งจะนำมาใช้กับกิจกรรมภาคพลังงาน (ด้านอุปทาน) และภาคขนส่ง และอยู่ระหว่างจัดทำระยะที่ 2 ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย ทั้งนี้ Thailand Taxonomy ถือว่าเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ยังเป็นไปตามความสมัครใจ การดำเนินการของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ (จาก 6 วัตถุประสงค์หลักด้านสิ่งแวดล้อม[1])โดยมีโครงสร้างในการพิจารณาเพื่อกำหนดเกณฑ์การจำแนกกิจกรรมอยู่ 4 ขั้นตอนหลัก คือ กำหนดวัตถุประสงค์ – กำหนดภาคเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ – กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการ – กำหนดเงื่อนไขและตัวชี้วัดที่เป็นเกณฑ์การประเมิน Screening criteria
อะไร คือ กิจกรรมสีเขียวสำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าที่สอดรับไปกับใน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ?
Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจพลังงานฝั่งอุปทานในด้านการผลิตไฟฟ้าความร้อน และความเย็น รวมถึงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่ง-จ่ายไฟฟ้า เป็นสำคัญ โดยการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระบบ Traffic light system เพื่อจำแนกกิจกรรมฯ เป็นกลุ่มกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดง จะใช้ 2 เกณฑ์สำคัญ คือ 1. เกณฑ์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล หรือ พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น และ 2. เกณฑ์ตัวชี้วัดที่อ้างอิงเส้นทางการลดการปล่อย GHG ในแต่ละกิจกรรม เช่น ตัวชี้วัดกลางของการปล่อย GHG สำหรับการผลิตไฟฟ้า หรือ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพโดยเฉพาะ เป็นต้น (ดูรายละเอียดของการจำแนกกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดงได้ใน Box 2)
จากเกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ข้างต้น ไม่เพียงแต่กลุ่มโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลยังมีโอกาสในการปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ยั่งยืน
จากเกณฑ์การจำแนกกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดงของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 สำหรับ 15 กิจกรรมของธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน หากภาคธุรกิจต้องการดำเนินธุรกิจที่สอดรับไปกับกิจกรรมสีเขียว ภาคธุรกิจจำเป็นต้อง…
เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น เนื่องจาก Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ระบุว่าเป็นกิจกรรมสีเขียว (ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้กับธุรกิจ/โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ในสถานีจำหน่ายน้ำมัน)
ปรับปรุงกระบวนการผลิตและที่มาของวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและชีวภาพ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าวมีการปล่อย GHG ได้ตามมาตรฐานของ Thailand Taxonomy รวมถึงที่มาของวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวภาพ
มุ่งเน้นพัฒนา Green hydrogen เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกลายเป็นกิจกรรมสีเขียวได้ หากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเดิม
ที่หันมาใช้ Green hydrogen และตั้งเป้าปล่อย GHG ไม่เกิน 100 gCO2e/kWh ภายในปี 2040 และหลังปี 2040 ตั้งเป้าปล่อยไม่เกิน 50 gCO2e/kWh
หลีกเลี่ยงที่จะลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2023 และกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถือว่าเป็นกิจกรรมสีแดง
Box 2 : เกณฑ์การพิจารณากิจกรรมผลิตไฟฟ้าตาม Traffic light system ของ Thailand Taxonomy จากคู่มือ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เราสามารถจำแนกกิจกรรมของธุรกิจพลังงาน จำนวน 15 กิจกรรม ออกเป็น 4 กลุ่มหลักที่มีความแตกต่างกันในการจัดกิจกรรมสีเขียว-เหลือง-แดง ได้แก่
A. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาเฉพาะกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า/ความร้อน/ความเย็น
B. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาจากกิจกรรมการผลิตฯ ร่วมกับตัวชี้วัดกลางของการปล่อย GHG ซึ่งเกณฑ์การปล่อย GHG จะ ทยอยเพิ่มความเข้มงวดขึ้นในทุก ๆ 5 ปีจนถึงปี 2050
C. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาจากกิจกรรมการผลิตฯ ร่วมกับตัวชี้วัดเฉพาะของกิจกรรมการผลิตฯ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ หรือ พลังงานชีวภาพ
D. กลุ่มธุรกิจที่พิจารณาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ร่วมกับตัวชี้วัดเฉพาะของกิจกรรม
Green taxonomy ถือว่าเป็นแนวทางที่ธุรกิจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปล่อย GHG สูงและมีโอกาสปรับลด GHG ได้ยาก ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาฟอกเขียว ซึ่งอาจมากระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจ ดังเห็นได้จากการปรับตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความเข้มข้นในการปล่อย GHG ต่อรายได้ในสัดส่วนสูง (Cabon intensities) เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะปรับให้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy
การปรับตัวไปสู่กิจกรรมสีเขียวจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตลาดการเงินสีเขียว ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ
ตลาดตราสารหนี้ : จากบทความของ ดร. ฐิติมา ชูเชิด EIC[1] เรื่อง “Greenium นักลงทุนยอมจ่ายแพงแค่ไหนให้โลกยั่งยืนขึ้น” ได้บ่งชี้ว่าการระดมเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตราสารหนี้สีเขียวและยั่งยืน (Green and Sustainable bonds หรือ ESG bonds) มีต้นทุนหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ต่ำกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป (Non-ESG bonds) หรือมีค่า Premium ติดลบ หรือที่เรียกว่า Greenuim อยู่เฉลี่ยในช่วง -1.8 ถึง -18bps นอกจากนี้ ในบทความยังระบุอีกว่า Greenium ในประเทศพัฒนาแล้วในช่วงปี 2019-กลางปี 2023 อยู่ในระดับสูงถึง
-40bps
ทั้งนี้ Greenium คือ ผลต่างระหว่างผลตอบแทนของตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Non-ESG bond) คำนวณได้จากการนำอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจ่ายของ ESG bond มาหักด้วยอัตราผลตอบแทนของ Non-ESG bond โดยหากได้ค่าเป็นลบแสดงว่า ตราสารนั้นมี Greenium เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ว่า ธุรกิจที่ออก ESG bond ขอระดมทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว สามารถเสนอจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนต่ำกว่าทางเลือกในการระดมทุนด้วย Non-ESG bond อย่างไรก็ตาม Greenium ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการในตราสารหนี้สีเขียวและยั่งยืนที่มีมาก ท่ามกลางปริมาณของตราสารหนี้ที่อาจไม่พอเพียงต่อความต้องการทั้งนี้แนวโน้มของ Greenium น่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากความต้องการในตราสารหนี้สีเขียวที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง แม้ว่าปริมาณของตราสารหนี้สีเขียวมีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีหลังก็ตาม โดย JPMorgan[1] ระบุว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนความต้องการในตราสารหนี้สีเขียว คือ 1. ตราสารหนี้สีเขียวเป็นสินทรัพย์ที่มีความ Defensive มากกว่าตราสารหนี้โดยทั่วไป 2. การเคลื่อนไหวของ Greenium จากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานของตราสารหนี้สีเขียว ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่มีความ Active สูงยังเข้ามาลงทุนในรูปแบบเน้นคุณค่า (Alpha opportunities) และ 3. ตราสารหนี้สีเขียวเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกองทุน ESG เช่น Article 9 funds ที่มีความโปร่งใสน้อยกว่าตราสารหนี้สีเขียว (ในแง่ของการใช้เงินที่ได้รับ
จากการระดมเงินทุน) นอกจากนี้ ธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะถือครองตราสารหนี้สีเขียวมากขึ้น เช่น European Central Bank : ECB ประกาศว่าการถือครองพันธบัตรของ ECB จะมุ่งไปที่ผู้ออกตราสารที่มีการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น ขณะที่ธนาคารในกลุ่มประเทศ Euro area ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มตราสารหนี้สีเขียวใน Portfolio ของธนาคารมากขึ้น เป็นต้น
สำหรับไทย แม้ว่าตราสารหนี้สีเขียวของไทยจะมี Greenium ที่ค่อนข้างต่ำ (เฉลี่ยราว -6 ถึง -7 BPS ในช่วงปี 2018 – เม.ย. 2023) และอาจไม่สร้างแรงจูงใจเท่ากับตลาดในประเทศพัฒนาแล้ว แต่การให้ความสำคัญของผู้ควบคุมกฎ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดการเงินก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ Greenium สูงขึ้น หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถระดมเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากตราสารหนี้สีเขียวได้ โดยเฉพาะเมื่อการให้ความสำคัญในกระแส ESG ทวีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้าน ESG ของภาครัฐ เช่น เมื่อกลางเดือน พ.ย. 2023 กระทรวงการคลังอนุมัติกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ คือ กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) เพื่อลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ESG โดยให้สิทธิวงเงินในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นวงเงินเพิ่มเติมจากวงเงินการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่ไม่เกิน 5 แสนบาท
ตลาดสินเชื่อ : โอกาสของกิจกรรมสีเขียวที่จะเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนที่ต่ำลงจากสินเชื่อปกติ ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันจากทั้งภาครัฐและธนาคารกลางของประเทศชั้นนำต่าง ๆ รวมถึงองค์กรนานาชาติ ที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญ เช่น ในปี 2021 ธนาคารกลางญี่ปุ่นและจีนเป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่ใช้เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ คล้ายรูปแบบโครงการเงินกู้สีเขียว เพื่อหนุนให้เอกชนลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (อ้างอิงจากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง นโยบายการเงินสีเขียว ช่วยลดโลกร้อน?) ในปี 2022 ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ดำเนินการ MAS SGD Facility สำหรับสินเชื่อ ESG เพื่อให้เงินทุนต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ SME ภายใต้โครงการสินเชื่อ ESG และ International Finance Corporation : IFC ของธนาคารโลกก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อให้กับโครงการสีเขียวหลายประเทศทั่วโลก เช่น โครงการ Solar plant ในเม็กซิโก เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันการเงินเอกชนหลายแห่งทั่วโลกก็ให้ความสำคัญต่อการให้สินเชื่อสีเขียวและยั่งยืนมากขึ้น (ตามรูปที่ 1) ซึ่งจะหนุนให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำลงได้เมื่อเทียบกับสินเชื่อปกติ
นอกเหนือจากสินเชื่อสีเขียวแล้ว การเติบโตของสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan (SLL) ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่หนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวเป็นรูปแบบสัญญาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน กล่าวคือ ถ้าธุรกิจสามารถปรับการดำเนินงานทางธุรกิจให้ได้ตามเงื่อนไขด้าน ESG อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจะถูกปรับลดลง ซึ่งจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจสามารถดำเนินการด้าน ESG ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคของโลกมีการพึ่งพาสินเชื่อ SLL เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าสินเชื่อสะสมในปี 2019-2023 เติบโตขึ้นกว่า 600% เมื่อเทียบกับมูลค่าในปี 2014-2018 และเพิ่มบทบาทขึ้นมาทดแทนมูลค่าสินเชื่อสีเขียวที่เติบโตเพียง 42%
ทั้งนี้จากการให้ความสำคัญด้าน ESG ของสถาบันการเงิน จนนำมาสู่การเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกกว่าของ ESG loan ทำให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่บ่งชี้ว่า ธุรกิจที่ใส่ใจและปรับตัวไปกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจะสามารถระดมเงินทุนในตลาดเงินได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่นเดียวกับงานศึกษาของ MSCI ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนน ESG ที่แตกต่างกันในช่วงปี 2015-2019 พบว่า บริษัทที่มีคะแนน ESG สูง (ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงมีการปรับตัวด้านความยั่งยืนได้ดี) มีต้นทุนการก่อหนี้ที่ต่ำกว่าบริษัทที่มีคะแนนต่ำ
สำหรับตลาดไทย แม้ว่าการเงินสีเขียวจะค่อนข้างเติบโตได้ดีในกลุ่มตราสารหนี้ ขณะที่ตลาดสินเชื่อจะเติบโตต่ำกว่า แต่ SCB EIC เชื่อว่า Thailand Taxonomy น่าจะเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เฉกเช่นกับตลาดโลก เนื่องจากสถาบันการเงินจะเห็นความชัดเจนในกิจกรรมสีเขียวมากขึ้น และนำไปสู่แนวทางการให้สินเชื่อ ESG ที่ชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางแนวทางการการปรับตัวของธุรกิจในด้าน ESG ผ่านคัมภีร์อย่าง Thailand Taxonomy เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ผ่านสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น
Box 3 : Green capital requirement ปกติสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ (Minimum capital requirement) โดยการพิจารณาความเพียงพอของเงินกองทุนจะต้องสอดรับไปกับสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดที่สถาบันการเงินถืออยู่ ซึ่งหากสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงของสถาบันการเงินอยู่ในระดับสูง ก็มีความจำเป็นต้องดำรงเงินกองทุนในจำนวนที่สูง บ่งชี้ถึงต้นทุนในของการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงนั้น ๆ ที่สูงขึ้น เช่น การให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธนาคารจำเป็นต้องดำรงเงินกองทุนมากกว่าสินทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น ธนาคารอาจต้องกำหนดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในอัตราที่สูงกว่า เพื่อคุ้มค่ากับต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากเงินกองทุน เป็นต้นทั้งนี้การพิจารณาความเสี่ยงในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่จะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อกลุ่มนั้น อย่างไรก็ตาม ประเด็น ESG ยังไม่ถูกนับรวมในการพิจารณาความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่ความจริงแล้ว การที่ธุรกิจไม่ปรับตัวตามกระแส ESG มีโอกาสที่จะส่งผลต่อรายได้และต้นทุนของบริษัท กระทบต่อกำไรและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะข้างหน้า ซึ่งหากพิจารณาประเด็นนี้เข้าไปในต้นทุนเงินกองทุน ก็จะส่งผลให้ธนาคารมีโอกาสที่จะกำหนดนโยบายดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงดังกล่าวได้ดีขึ้น หนุนให้ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อสีเขียวมีระดับที่ต่ำกว่าสินเชื่อปกติ |
แม้ Green taxonomy สร้างมาตรฐานที่ชัดเจนของกิจกรรมที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ในการประยุกต์ให้ได้ประโยชน์มากขึ้นและกว้างขว้างขึ้น ยังเป็นความท้าทายที่ต้องรอการปรับปรุงเพิ่มเติม ทั้งนี้ความท้าทายบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ 1. การประยุกต์ใช้ Green taxonomy กับกิจกรรมเศรษฐกิจยังจำกัดอยู่ในบางกิจกรรม ยังไม่กว้างขวางเพียงพอ โดยปัจจุบันยังอยู่เพียงแค่ 2 กลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจ คือ โรงไฟฟ้าและขนส่ง 2. การผลักดันให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับเป้าหมาย Net zero pathway และเป้าหมายอื่น ๆ ในด้าน ESG เพื่อให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงสำคัญช่วยหนุนให้ธุรกิจดำเนินไปในเป้าหมายข้างต้นไปพร้อมกันผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว หรือก็คือการสร้างกลไก Green(bank)-to-Green(company) เพื่อผลักดันสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตได้ดี นอกจากนี้ อาจนำมาสู่การเติบโตของผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงินสีเขียว และ 3. กำหนด Green capital requirement เพื่อให้สถาบันการเงินระวังถึงความเสี่ยงด้าน ESG ที่จะมีผลต่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน เนื่องจากการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูง รายได้และต้นทุนของธุรกิจในระยะกลางอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น กระทบต่ออัตรากำไรในระยะกลางของธุรกิจได้ นำมาสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้นของสถาบันการเงิน
โดยเฉพาะเพื่อลงทุนหรือปรับปรุงกิจกรรมให้สอดคล้องกับกิจกรรมสีเขียว โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดประเด็นปัญหา
ฟอกเขียวขึ้น
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/Thailand-Taxonomy-281123
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
นพมาศ ฮวบเจริญ (nopphamas.houbjaruen@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส