ก้าวไกลพักรบศึกใน ตั้งรับศึกนอก
ปักธงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่-นิรโทษกรรม 112
ก้าวไกล พักรบ ศึกใน หันหลังให้กับความอลหม่าน-ฝุ่นตลบ หลังจากลูกพรรค “วินัยหย่อนยาน” เลือดคนหนุ่ม-คนสาว พุ่งพล่าน กลายเป็นหลุมดำศีลธรรม-ล่วงละเมิดทางเพศ จนต้องสังเวย 2 สส.-ขับออกพ้นพรรค นับนิ้วแล้วยังมี สส.พลพรรคสีส้ม เหลือปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 148 ชีวิต
หลังแผ่นดินไหว-อาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายหน ยังต้องตั้งรับศึกนอก-ผจญภัยการเมือง ทั้งคดีในศาลรัฐธรรมนูญที่รอจ่อคอหอย “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กรณีถือหุ้นไอทีวีและคดีล้มล้างการปกครอง-ม.112 ส่งผลสะเทือนถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมืองพิธา หรือ “ยุบพรรค” กรรมการบริหารพรรคยกเข่ง ซ้ำรอย 3 ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” จนมีกระแสข่าว “แก้เกม” ด้วยการตั้ง “พรรคสำรอง” เป็นพรรคที่สาม ดัน “ทายาทรุ่นสาม” ทั้ง ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ รังสิมันต์ โรม มายืนอยู่แถวหนึ่ง
ถลกหนังงบประมาณปี 67
หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ก่อนเปิดศักราชใหม่ พรรคก้าวไกลตั้งตัว-ตั้งหลัก เป็นเสาหลักในฐานะ “พรรคผู้นำฝ่ายค้าน” ประเดิมด้วยการจัดตัว-จัดทัพลับฝีปาก ถลกหนังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินกว่า 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก ช่วงต้นเดือนม.ค. 2567 “ล็อกเป้า” ด้วยการแสกน “งบกองทัพ” ที่พุ่งสูงเกือบทะลุ 2 แสนล้านบาท ไล่เลี่ยไปกับ “กฎหมายการเงิน” อีก 1 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท หากผ่านด่านคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะเข้าสู่การพิจารณา “วาระแรก” ในช่วงต้นปีหน้า
หลังจากการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ผ่านวาระ 3 แล้ว พรรคก้าวไกลจะขย้ำต่อด้วยการจองกฐินยื่นญัตติเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซักฟอกรัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ปักหมุดต้นเดือนเมษายน 2567 เป็นการ“ตรวจการบ้าน” นโยบายพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงไว้ แต่เวลาปฏิบัติออกมา “ไม่ตรงปก” เช่น การปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร การนำทรัพย์สินของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์แบบผักชีโรยหน้า-ลูบหน้าปะจมูก ถนอมน้ำใจนายพลทหารที่ต่างฝ่ายต่างมองว่า เป็น “ศัตรูของศัตรูคือมิตร”
เปิดศึกซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา
โดยเฉพาะการ “จองกฐิน” เศรษฐา หลังจากปากรั่วเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับผู้กำกับ หรือ “ตั๋วเพื่อไทย” หรือ “ตั๋วชั้น14” จนทำให้คอพาดเขียง แต่ถ้าพรรคก้าวไกล-ฝ่ายค้าน ไม่มีข้อมูล-น้ำหนักที่เพียงพอ อาจจะเป็นการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ แต่ถ้ามี “ไม้เด็ด” อาจจะถึงขั้นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบลงมติก็เป็นได้ แต่งานนี้ก้าวไกลอาจต้อง “การ์ดสูง” เพราะอาจถูกพรรคเพื่อไทย “สวนหมัด” เรื่อง “ปมชู้สาว” และเรื่องจริยธรรมของ “สส.จันทบุรี” ที่ถูกข้อครหาเรื่อง ตั้งสามีมาเป็น “ผู้ช่วยสส.” และยังถูกเพจ “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” ออกมาแฉพฤติกรรม “สามี” เป็น “นายหน้า” รับงานให้ “เด็กเอ็น”
นอกจาก “งานรูทีน” ในสภาที่พรรคก้าวไกลจะต้องรบกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ภารกิจ “เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง” ก็ยังต้องขบคิด “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวขบวนคณะก้าวหน้า มองข้ามช็อต “ปักธง” จิตวิญญาณให้กับพรรคก้าวไกล ในปี 2567 บนสนามประลองกำลังกับโครงสร้างอำนาจของ “ชนชั้นนำ”
ปักธง รธน.ฉบับใหม่-นิรโทษกรรม
สนามที่หนึ่ง การ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยเริ่มต้นจากการออกแบบ “คำถามประชามติ” ให้มี 3 คำถาม เป็น คำถามหลัก 1 คำถาม ว่า เห็นด้วยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนหรือไม่ และคำถามพ่วง 2 คำถาม คือ เห็นด้วยหรือไม่กับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ยกเว้นหมวด 1 หมวด2 หรือไม่ และเห็นด้วยหรือไม่กับที่มาของ สสร.มาจากประชาชน
สนามที่สอง การนิรโทษกรรม “คดีการเมือง” โดยพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. โดยการตั้ง “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” จำนวน 9 คน โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน ซึ่งเป็นการกระทำในช่วงระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลบังคับใช้
ทั้งคดีที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “คนเสื้อเหลือง” เหตุการณ์การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และเหตุการณ์การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จะได้อานิสงส์จากกฎหมายนิรโทษกรรม ยกเว้น การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะ “ผู้สั่งการ” หรือผู้ปฏิบัติการ อันเกินสมควรแก่เหตุ การกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
ลดอำนาจรวมศูนย์-กระจายความมั่งคั่ง
สนามที่สาม การกระจายอำนาจ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 14 เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสนามที่สี่ เรื่องที่ดิน โดยการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนผืนป่า-คดีโลกร้อน แก้ไข-ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และกฎกระทรวงเกี่ยวกับที่ดิน ผลักดันกฎหมายระดับพ.ร.บ.เกี่ยวกับป่าไม้-อุทยาน และที่ดินทำกิน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินรวมแปลง
ปี 2567 ก้าวไกลกลับมาตั้งต้นใหม่ในการทำหน้าที่พรรคแกนนำฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กองเชียร์สีส้ม คงต้องเกาะขอบเวทีสภาลุ้นหนัก 3 หมัดของพรรคก้าวไกลอาจจะเข้าเป้าหรือไม่ แม้จะวางตำแหน่งพรรคเพื่อไทยคือมิตร ทำให้ “ชกไม่เต็มหมัด” ไม่หวังน็อก แต่เป็นการ “เก็บคะแนน” และ “สะสมชัยชนะ” รอนับ 8 ในการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า