ดิจิทัล วอลเล็ต เลื่อนไม่มีกำหนด
กระทรวงการคลัง จะใช้งบประมาณผูกพันยาวถึง 4 ปี ในการโครงการดิจิทัล วอลเล็ต และในแต่ละช่วงของปีงบประมาณ เอกชนสามารถทยอยถอนเงินสดออกจากโครงการนี้ได้ แต่ถ้ายังไม่ถอนเงินสด รัฐบาลก็จะมีมาตรการจูงใจทางด้านภาษี หรืออื่นๆ เพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ
โครงการดิจิทัล วอลเล็ต จำนวน 10,000 บาท ของรัฐบาลจะมอบให้แก่ประชาชนที่มีอายุเกิน 16 ปี จำนวน 54.8 ล้านคน รวมเป็นเงินสูง 548,000 ล้านบาท แต่ถูกกระแสคัดค้านอย่างหนัก จากนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท (ธปท.) ถึง 2 คน ทำให้เกิดความสับสนว่าโครงการนี้จะเดินหน้าหรือยกเลิก
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ (25 ต.ค.) มีความเห็นให้ปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมกำหนดรัศมี 4 กิโลเมตร เพราะเห็นว่า การกำหนดพื้นที่ระดับอำเภอ มีขนาดใหญ่กว่า และมีจำนวนร้านค้ามากกว่า โดยร้านค้าที่อยู่ภายในอำเภอสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ทั้งหมดรวมถึงร้านสะดวกซื้อ
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังมีความชัดเจนเรื่อง แหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในโครงการนี้ ได้ข้อสรุปแล้ว จะมาจากงบประมาณทั้งหมด 400,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะตั้งงบผูกพันในปีงบประมาณ ปีละ 100,000 ล้านบาท รวมระยะ 4 ปี โดยผู้ที่จะถอนเงินสดออกจากโครงการนี้ มีทั้งหมด 3 ประเภทคือ 1.ร้านค้าและบริษัท เอกชนที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 2.บริษัทนิติบุคคล และ3.บุคคลธรรมดาที่เสียภาษี
อย่างไรก็ตาม การตั้งงบประมาณระยะยาวผูกพัน 4 ปีนั้น ผู้ที่ถือ ดิจิทัล วอลเล็ต หากต้องการถอนเงินสดก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ แต่ถ้ายังไม่ถอนเงินสดออกไปใช้ก่อน รัฐบาลก็จะมีสิทธิพิเศษ ทางภาษี แต่จะเป็นเรื่องอะไรบ้างนั้น ยังไม่สามารถตอบได้
นอกจากนี้ กรณีที่งบประมาณปี2567 ยังไม่ผ่านรัฐสภา และคาดการณ์ว่า กว่าใช้เงินงบประมาณ2567 น่าจะเดือนเม.ย. หรือเดือนพ.ค.เป็นอย่างเร็ว ทำให้โครงการนี้ ที่เน้นแหล่งเงินจากเงินงบประมาณเป็นหลักอาจจะต้องเลื่อนโครงการออกไปก่อน จากเดิมเดือนก.พ. ปีหน้า เป็นไตรมาส 2 อย่างเร็วที่สุด (เม.ย.-มิ.ย.) ส่วนแหล่งเงินที่มาจากการกู้ เช่น การออก พ.ร.ก. หรือกู้เงินตาม มาตรกา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จะเป็นทางเลือกสุดท้าย
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นนั้น มีความชัดเจนแล้วว่า จะใช้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด แต่ขอมูลเป็นของรัฐบาล โดยโอนข้อมูลบางส่วนจากเป๋าตังมาใช้ในโครงการนี้ได้ ด้วยเช่น การยืนยันตัวตน หรือ KYC ที่ยืนยันไปแล้วกว่า 40 ล้านคน รวมถึงร้านค้าและร้านธงฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ รมช.คลัง ยังกล่าวว่า ค่าบริการที่ธนาคารกรุงไทยคิดกับรัฐบาล ในการผลิตแอพฯ ไม่ถึง 12,000 ล้านบาท แต่ไม่มาก แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการ
ส่วนความเห็นที่แตกต่างกันนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราจะเสนอเรื่องดังกล่าว ให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า เพราะขณะนี้ ยังมีมุม มองที่แตกต่าง
“มาตรการนี้ มีความคิดเห็นเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อดันจีดีพีให้สูงขึ้น อีกฝ่ายมีข้อเสนอให้เอาคนรวยออกไป ซึ่งคณะทำงานก็ต้องหาคำจำกัดความของคำว่า คนรวย ให้มีความชัดเจน แต่หากทำแบบนั้น มาตรการนี้ ก็กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มหรือบรรเทาความเดือด” รมช.คลัง กล่าว
โดยในที่ประชุม ได้เสนอ 3 ทางเลือก เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้ตัดสินใจ คือ
1. ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 150,000 ล้านบาท
2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท
3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 500,000บาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท
“เมื่อมีความเห็นต่าง เราก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ คณะอนุกรรมการฯ จะไปดูแต่ละกลุ่มว่า ครอบคลุมเท่าไร และจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ตัดสินใจรายละเอียด” รมช.คลัง กล่าว