มาเลเซียรับมือเบร็กซิทได้
เป็นไปไม่ได้ที่ผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของมาเลเซียแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับผลกระทบนี้ได้ อ้างอิงจากถ้อยแถลงของนายดาตุ๊ก เสรี มุสตาปา โมฮัมเมด
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวหลังจากการเผยแพร่รายงานประจำปี 2558 ของกระทรวงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า “การที่จะกล่าวว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย ก็คงเป็นการปฏิเสธเกินไป เราควรต้องยอมรับความจริง อย่างไรก็ตาม มาเลเซียมีสภาพเศรษฐกิจที่หลากหลายและ แข็งแกร่งพอ ซึ่งจะช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคตได้ สำหรับในเวลานี้ นี่เป็นเหมือนการดำเนินธุรกิจตามปกติทั่วไป ”
อย่างไรก็ตาม นายมุสตาปา กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากมูลค่าการค้าและการลงทุนของมาเลเซียกับสหราชอาณาจักรไม่ค่อยโดดเด่นมากนัก แต่ผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบคงจะเห็นได้ในอนาคตอันใกล้นี้
นายมุสตาปา กล่าวว่า “เรายังไม่เห็นผลกระทบจากเบร็กซิทมากนักในซีกโลกนี้ เนื่องจากค่อนข้างไกลกัน และสหราชอาณาจักรไม่ใช่ประเทศคู่ค้าชั้นนำใน 5 อันดับแรกหรือแม้แต่ 10 อันดับแรกที่มีการค้าการลงทุนสูงสุดกับมาเลเซีย”
อย่างไรก็ตาม เขาเน้นว่า การออกจากอียูของสหราชอาณาจักรครั้งนี้จะทำให้มาเลเซียมีทิศทางที่ชัดเจนในด้านการค้ากับหลายประเทศ เช่น ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี
โดยเขากล่าวว่า ทางกระทรวงจะเฝ้าระวังและจับตาการพัฒนาของความเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ นายมุสตาปา ให้ความเห็นว่าผลกระทบของเบร็กซิทไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เงินริงกิตอ่อนค่าลง
เขาให้ความเห็นว่า “เงินริงกิตที่อ่อนค่าไม่ได้เกิดจากเบร็กซิทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่าง” โดยเขาเสริมว่า ราคาน้ำมันที่อ่อนยวบยาบก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเหล่านั้น
โดยเขากล่าวเสริมว่า ความผันผวนของตลาดในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแปลกผิดปกติแต่อย่างใด และเป็นอาการช็อกเพียงชั่วคราวของระบบเศรษฐกิจหลังรู้ว่าสหราชอาณาจักรตัดสินใจจะออกจากอียูเท่านั้น
นายมุสตาปา สรุปว่า “ผมมองว่า นี่เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และยังมีการตอบสนองต่อข่าวนี้อย่างเข้มข้นอีกหลายระดับที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ”