สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 ก.ย. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.พัทลุง (112) จ.พิจิตร (110) จ.อุดรธานี (75) จ.กาญจนบุรี (58) จ.ตราด (54) จ.พระนครศรีอยุธยา (44)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 49,121 ล้าน ลบ.ม. (60%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 43,932 ล้าน ลบ.ม. (61%)
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 18/2566 ในช่วงวันที่ 17-21 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน ลำน้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จ.นครพนม ลำเซบาย จ.ยโสธร แม่น้ำลำปาว อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
กอนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และการช่วยเหลือในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่นและยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันที่เขื่อนห้วยเสียว ต.วังชัย อ.น้ำพอง ได้เร่งระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับเก็บกักสูงสุด เพื่อรองรับน้ำหากมีฝนตกด้านเหนืออ่างฯ ซึ่งลำน้ำด้านท้ายยังสามารถรับน้ำได้ ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง และในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน อ.วารินชำราบ ให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ส่วนที่ อ.พิบูลมังสาหาร ได้เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร เพื่อระบายน้ำรองรับปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาเพิ่มอีกระลอก และที่ อ.โขงเจียม ปัจจุบันได้เปิดประตูระบายน้ำที่เขื่อนปากมูลแล้วทั้ง 8 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุดต่อไป
กองทัพบก ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ อ.แม่ระมาด และอ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อช่วยเหลือประชาชนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม พร้อมทั้งได้ให้ข้อแนะนำ ในการปฏิบัติงานในเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งวางกระสอบทรายทำแนวกันน้ำ ขนสิ่งของ และน้ำประชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม ณ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน และเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 17 – 21 กันยายน 2566 พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเทิง) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย ฝาง และแม่อาย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม ปัว เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ ทุ่งช้าง ท่าวังผา เวียงสา และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก และหล่มเก่า) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย วังสะพุง และภูหลวง) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง และหนองหาน) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กุฉินารายณ์ สมเด็จ นามน ดอนจาน สามชัย และคำม่วง) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ ขลุง โป่งน้ำร้อน และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง แหลมงอบ บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด) และพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน ลำน้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนน้ำตาล ระยะที่ 2 อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและปริมาณฝนตกชุกหนาแน่น ป้องกันความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ณ บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนน้ำตาล ระยะที่ 2 อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดการสัมมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากโครงการศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศภายใต้โครงการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศไทย โดยมีหัวข้อการถ่ายทอดองค์ความรู้ ดังนี้ การศึกษาแลกเปลี่ยนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำบาดาล เพื่อความยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่น การศึกษาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ น้ำแบบบูรณาการ ณ สาธารณรัฐเกาหลี การศึกษาแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลในภูมิภาคอาเซียน ณ สาธารณรัฐ สังคมนิยมเวียดนาม การศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนางานด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำบาดาล ณ สหราชอาณาจักร