พิธา เดินสาย กล่อมภาคธุรกิจ กระชากค่าแรงขึ้น 450 บาท
ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล-ครม.พิธา 1 จากแรงส่งกลับกลายเป็นแรงเหวี่ยงกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทย โ
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทย คนที่ 30 จึงมีวาระเดินสายพบปะภาคเอกชน-นักธุรกิจ นอกเหนือจากวาระผลักดัน 100 วันแรก และส่งสารไปถึงนักลงทุนที่อกสั่นขวัญแขวนหลังรู้ผลการเลือกตั้ง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คือ องค์กรธุรกิจแรกที่ “พิธา” นำทีมเศรษฐกิจ อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปพบเพื่อเรียกความเชื่อมั่น
รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่อนโยบายของพรรคก้าวไกล จากภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยมี “สุพันธุ์ มงคลสุธี” รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย-อดีตประธาน ส.อ.ท.เป็น “มือประสาน”
“พิธา” ปักธง นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลก้าวไกล เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ blockchain เปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่เป็นอุตสาหกรรมที่เข้าไปอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมโลก
โดยนโยบายด้านอุตสาหกรรมของพรรคก้าวไกล ภายใต้สโลแกน “บรรเทาทุกข์-เท่าเทียม-ทันสมัย” ที่มาพร้อมกับภารกิจ-พันธกิจ “3F” ประกอบด้วย
1.Firm Foundation พื้นฐานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น แรงงานที่มีทักษะสูง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี 2.Fair ความเป็นธรรม และ 3. Fast Growing Industry ผลักดันการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อีวี
“พิธา” ยอมรับว่า นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน เป็นการ “กระชาก” แต่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาเมื่อปี 54 สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ
ดังนั้นคู่ขนานกัน “คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” ของพรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างศึกษา “แพคเกจเยียวยา” จากผลกระทบการขึ้นค่าแรง โดยตั้งหลักจาก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”
เป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับเจ้าของเอสเอ็มอี-ธุรกิจ เพื่อความเท่าเทียม ประกอบกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ลดภาษี จาก 20 % เหลือ 15 % หักภาษีได้ 2 เท่า ภายใน 2 ปี งดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 6 เดือน
โดยมีนโยบาย “ลดค่าไฟทันที” 70 สตางค์ เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ การกีโยตินกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ-อำนายความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เป็น “มาตรการจูงใจเพิ่มเติม”
ในวงหารือระหว่าง “ทีมพิธา” กับ ส.อ.ท. สิ่งที่เห็นตรงกัน คือ ไม่อยากให้ขึ้นกระชาก-ใช้ยาแรง จนค่าแรงก้าวกระโดด จนเกิดอาฟเตอร์ช็อกับภาคธุรกิจ แต่อยากให้ขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่าเงินเฟ้อ ประสิทธิภาพของแรงงาน
สุดท้าย “ค่าแรงขั้นต่ำ” ในยุค “รัฐบาลพิธาและพรรคร่วม 8 พรรค” จะเป็น 400 บาท 450 บาท หรือ 600 บาทต่อวัน ต้องไปเคาะตัวเลขกันที่คณะกรรมการ “ไตรภาคี” ประกอบไปด้วย ตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล
โดยหลังจากนี้จะทำงานร่วมกับ ส.อ.ท. ลงลึกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม-เซ็กเตอร์ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ ปิโตรเคมี เอสเอ็มอี
“พิธา” ใช้คำว่า “เหรียญสองด้าน” การเดินสายพบกับภาคธุรกิจจึงต้องรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย “ทั้งองคาพยพ”
หลังจากนี้จึงจะเดินสายพูดคุยกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงสภาแรงงานและสภาเอสเอ็มอี
การเดินทางมายัง ส.อ.ท. “พิธา” ซึ่งเป็นสมาชิก ส.อ.ท. ส่งสัญญาณไปถึง ส.ว.250 คน ที่มาจาก “ส.อ.ท.รุ่นพี่” เช่น นายเจน นำชัยศิริ อดีตประธา นส.อ.ท.
พิธาเคยทำงานในส.อ.ท.ตั้งแต่อายุ 20 ปี – สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรีมีสายสัมพันธ์กับ “ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี-นายสมคิด ในฐานะ “หลาน”
ถือว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”
นอกจากนี้ “พิธา” ยังพบกับตัวแทนสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา-อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะและรับฟังแนวคิด “นักธุรกิจรุ่นใหม่”
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการพัฒนาสินค้าเกษตร การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมภาคการผลิต ลิขสิทธิ์ ประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ปัญหาการคอร์รัปชัน นวัตกรรม โอกาสในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของไทย
รวมถึงอุตสาหกรรมโดรนและการป้องกันประเทศ โดยส่งเสริมนโยบาย offset policy เปลี่ยนจากการซื้ออาวุธจากต่างชาติ เป็นการซื้อพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ใช้แรงงานและชิ้นส่วนในประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์
การเดินสายกล่อมผู้ประกอบการผ่านกลไก ส.อ.ท. และ แล้ว “พิธา” ยังต้องบริหารความคาดหวังของ “สาวกก้าวไกล” โดยเดินทางไปพบสหภาพแรงงานเพื่อเป็นผนังทองแดง-กำแพงเหล็กในการต่อรองกับผู้ประกอบการ-นายจ้าง
พิธา ยกเหตุผลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพี่น้องแรงงาน ตามสภาวะเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพที่สูงขึ้น อ้างอิงจากตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ
ตลอดจนผลิตภาพของแรงงานในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขที่เหมาะสม คือ 450 บาทต่อวัน เพื่อเดินหน้าแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงาน
“จะส่งผลให้ค่าแรงขึ้นอัตโนมัติทุกปี ขึ้นน้อย ๆ ขึ้นบ่อย ๆ ไม่ใช่นาน ๆ ที ขึ้นที ส่วนข้อกังวลเรื่องการขึ้นค่าแรงจะทำให้ย้ายฐานการผลิต เป็นเพียงปัจจัยเดียวในหลาย ๆ ปัจจัยที่จะตัดสินใจเลือกประเทศใดเป็นฐานการผลิต เช่น ศักยภาพของบุคลากร การทุจริตคอรรัปชั่น ระบบภาษี ตลาดภายในประเทศรองรับ”นายกฯ พิธาฟันธง
นอกจากนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันแล้ว พรรคก้าวไกล ซึ่งมี ส.ส.ปีกแรงงาน อย่าง “วรรณวิภา ไม้สน” นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักสหภาพแรงงาน
ดังนั้นจึงมี “วาระผลักดัน” เรื่องสิทธิในการรวมตัว เรื่องประกันสังคมแรงงานนอกระบบ เรื่องสิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ลดเวลาการทำงานบุคลากรด้านสาธารสุข จาก 100 ชั่วโมง เหลือ 60 ชั่วโมง พิธา ต้องบริหารทั้งความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ-นักลุงทุน และบริหารความคาดหวัง 14 ล้านเสียงที่เทความไว้วางใจให้กับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่าน