สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 มี.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีหมอกบางในตอนเช้า และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนตกบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา (15 มม.) จ.พังงา (13 มม.) และ จ.สงขลา (5 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 31,677 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 25,090 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมกำชับหน่วยงานเร่งลดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 โดยได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ดังนี้
สทนช. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผน และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมเร่งบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้เกิดรูปธรรม
กรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการด้านทรัพยากรน้ำ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ รวมถึงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเพื่อเตรียมรับฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง
กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมบริเวณเขตโบราณสถานเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี เร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์โครงการด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 พร้อมรายงานผลต่อ กนช. อย่างต่อเนื่อง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ขนาด 6 นิ้ว ลึก 90 เมตร ณ บ้านบูเก๊ะคละ หมู่6 ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้ปริมาณน้ำ 5 ลบ.ม./ชม. ราษฎรได้รับประโยชน์จำนวน 25 ครัวเรือน 125 คน
1.2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามผลการเจาะบ่อบาดาลหน่วยเจาะ D2I ตามโครงการน้ำบาดาล เพื่อประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วม (CSR) ณ โรงพยาบาลสามชุก ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีแหล่งน้ำที่มีความมั่นคง สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลได้อย่างคุ้มค่า
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ตอนบนมีอากาศร้อน สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ในช่วงวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2566 มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 31,678 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 25,092 ล้าน ลบ.ม. (52%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,448 ล้าน ลบ.ม. (68%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,138 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,437 ล้าน ลบ.ม. (52%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 24,964 ล้าน ลบ.ม. (53%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 13,353 ล้าน ลบ.ม. (61%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,575 ล้าน ลบ.ม. (65%)