ชนชั้นกลางลดลงทั่วโลก
ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางกำลังลดจำนวนลงในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก จากรายงานล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
“ ทุกวันนี้ ชนชั้นกลางดูจะเหมือนเรือที่กำลังแล่นอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยวกราก” Angel Gurria เลขาธิการทั่วไปของ OECD ระบุ “ รัฐบาลต้องรับฟังความกังวลของประชาชน และปกป้องและส่งเสริมมาตรฐานความเป็นอยู่ของชนชั้นกลาง”
สัดส่วนครัวเรือนรายได้ปานกลางในประเทศพัฒนาแล้วลดลงจาก 64% ในช่วง 30 กว่าปีก่อน ลงมาอยู่ที่ 61% ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยจำนวนลดลงในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อิสราเอล เยอรมนี แคนาดา ฟินแลนด์ และสวีเดน
โดยในสหรัฐฯ มีจำนวนประชากรกว่า 50% ที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งน้อยกว่าประเทศส่วนใหญ่ที่พัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ ในรายงานจัดกลุ่มชนชั้นกลางด้วยเกณฑ์รายได้ครัวเรือนที่อยู่ระหว่าง 75% – 200% ของค่าเฉลี่ยรายได้ประชาชาติในประเทศนั้น
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของเศรษฐี 10% ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายพุ่งขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อในประเทศร่ำรวย ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับชนชั้นกลางที่จะรับมือ อย่างเช่นราคาบ้าน ที่มีราคาแพงขึ้นกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยกว่า 1 ใน 3 ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยชนชั้นกลางใช้จ่ายเงินถึง 32% กับค่าบ้านในปี 61 เมื่อเทียบกับ 25% ในปี 38
นอกจากนี้ ครัวเรือนรายได้ปานกลางกว่า 1 ใน 5 ใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หาได้
คนรุ่นใหม่อายุน้อยจะยิ่งลำบากมากขึ้นกว่าจะมีสถานะเป็นชนชั้นกลาง ยากลำบากกว่ากลุ่มคนในเจเนเรชั่นก่อน ครั้งหนึ่งการเป็นชนชั้นกลางหมายถึงการได้อยู่อาศัยในบ้านที่มีความสะดวกสบาย และซื้อหาได้จากอาชีพการงานที่มั่นคง รายงานระบุ โดยยังเสริมว่าหลายครอบครัวหวังจะมีอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกๆของพวกเขา
คนในยุคเบบี้บูมเกือบ 70% เป็นชนชั้นกลางได้ตั้งแต่พวกเขาอยู่ในวัย 20 กว่าปี เมื่อเทียบกับคนเจน X ที่เป็นชนชั้นกลางได้เกือบ 64% และคนยุคมิลเลนเนียลจะมีเพียง 60% เท่านั้นที่ทำได้ และคนในยุคเบบี้บูมจะมีงานที่มั่นคงตลอดชีวิตการทำงานมากกว่าคนที่มีอายุน้อยกว่า
ความไม่มั่นคงในการงานมีมากขึ้นเนื่องจากตลาดงานเปลี่ยนรูปแบบไปท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และการใช้เทคโนโลยี โดย 1 ใน 6 ของงานรายได้ปานกลางในปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกแย่งงานด้วยระบบอัตโนมัติ
“ แนวโน้มเหล่านี้ทำให้เห็นภาพที่ผันผวนของบรรดาคนทำงานที่มีรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะผู้ที่มีทักษะปานกลางค่อนข้างต่ำในงานประจำ” รายงานระบุ
ทั้งนี้ OECD เสนอคำชี้แนะในการแก้ปัญหาชนชั้นกลาง อย่างเช่น การลดภาษีให้ชนชั้นกลาง และเพิ่มความมั่งคั่งให้พวกเขา การพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถจ่ายได้ ช่วยคนรุ่นใหม่ในการสร้างฐานะ รับภาระด้านค่าใช้จ่ายทางการศึษา การดูแลเด็ก และการดูแลสุขภาพ และพัฒนาทักษะแรงงานและฝึกอบรม.