สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ม.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.เชียงราย (60 มม.) จ.สงขลา (42 มม.) และ จ.สตูล (23 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 39,244 ล้าน ลบ.ม. (66%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,702 ล้าน ลบ.ม. (67%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณภาคใต้
กอนช. ติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดังนี้
เฝ้าระวังปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 20-25 ม.ค. 66 ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ประกอบกับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
เฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำของภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 21–26 ม.ค. 66 โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดในวันที่ ในวันที่ 23–24 ม.ค. 66 ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำฯ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้กรมทรัพยากรน้ำเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความชื้นในดินสูงในช่วงวันที่ 20–25 ม.ค. 66 เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดอยเวียงผาพิทยา และ บ้านหัวเวียง ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์ กว่า 500 ราย
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงปกคลุมประเทศไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 39,244 ล้าน ลบ.ม. (68%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 31,702 ล้าน ลบ.ม. (66%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,394 ล้าน ลบ.ม. (87%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,148 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,246 ล้าน ลบ.ม. (67%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 31,451 ล้าน ลบ.ม. (66%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,597 ล้าน ลบ.ม. (30%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,613 ล้าน ลบ.ม. (30%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดฝึกอบรมการใช้งานและบำรุงรักษาระบบประปาบาดาล ในโครงการศึกษาระบบประปาบาดาลโดยใช้เทคนิคการเจาะและประสิทธิภาพบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ระดับลึกด้วยวิธีการเจาะแบบระบบหมุนดูดกลับ (Reverse Circulation ,RC) และแบบระบบหมุนตรง (Direct Circulation, DC) ในพื้นที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการดูแล บำรุง และรักษาระบบให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้ดูแลระบบประปาบาดาล และกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วมกิจกรรม