อากาศร้อนสุดทุบสถิติใน 4 ปีล่าสุด
4 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุด โดยอุณหภูมิทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นทำลายสถิติเท่าที่มีการบันทึกมา สหประชาชาติยืนยันเมื่อวันที่ 6 ก.พ.จากการวิเคราะห์ที่ทาง UN ระบุว่า “ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ”
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติระบุเมื่อเดือนพ.ย.61 ว่า เป็นปีที่ 4 แล้วที่ทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ย้ำเน้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการดำเนินการควบคุมภาวะโลกร้อนซึ่งเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ได้มีการคำนวณสัปดาห์ท้ายๆของปีที่แล้วเข้ากับรูปแบบสภาพอากาศและสรุปว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ย ในปี 2561 สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับอุณหภูมิก่อนช่วงอุตสาหกรรม
ในปี 2559 เกิดสภาพอากาศเอลนิโญ่ทำให้เป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยยังมีการระบุว่า 20 ปีที่มีอากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เกิดขึ้นในช่วง 22 ปีล่าสุด
“ แนวโน้มอุณหภูมิในระยะยาวมีความสำคัญมากกว่าการจัดอันดับในแต่ละปี และแนวโน้มอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ” Petteri Taalas Taalas เลขาธิการทั่วไปของ WMO ระบุ “ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในช่วง 4 ปีล่าสุดมีความผิดปกติมาก ทั้งบนพื้นดินและในมหาสมุทร ”
WMO ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง เช่น พายุเฮอร์ริเคน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วมฉับพลัน “ หลายเหตุการณ์ที่อุณหภูมิและสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าจะเกิดอย่างแน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ” Taalas กล่าว
หน่วยงานของยูเอ็นแห่งนี้ยังชี้ว่า สภาพอากาศในปี 2562 จะเป็นผลจากสิ่งปี 2561 เหลือไว้ เช่น ออสเตรเลียถูกคลื่นความร้อนโจมตีจนมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดทุบสถิติในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา และมีการเตือนว่า คลื่นความร้อนรุนแรงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ในปีนี้ หลายพื้นที่มิดเวสต์ของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจาก polar vortex เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยบางพื้นที่อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างน่าตกใจคือ -53 องศาเซลเซียส ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ชี้ว่าอากาศที่หนาวจัดทำให้เขาข้องใจเรื่องความถูกต้องของข้อมูลภาวะโลกร้อน “ ภาวะโลกร้อนนีมันเรื่องบ้าอะไรเนี่ย ? โปรดกลับมาเร็วๆหน่อย เราต้องการคุณ !”
ขณะที่ Taalas ระบุว่า อากาศที่หนาวจัดรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้เป็นผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือมนุษย์ รวมทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นบริเวณขั้วโลก “ สิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกมีอิทธิพลต่ออุณหภูมิและสภาพอากาศในพื้นที่ต่ำลงมาซึ่งผู้คนหลายร้อยล้านคนอาศัยอยู่ ”