เปิดศักราชใหม่ “สัมพันธ์ไทย-จีน” “สี จิ้นผิง” เยือนไทย เพิ่มการร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันสาธารณะรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศมหาอำนาจในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนอยู่ที่ 14.36 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยมีการคาดการณ์จากหน่วยงานระหว่างประเทศว่าหากจีนสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ระดับ 4 – 5% ต่อปีได้ต่อเนื่อง จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกได้ภายในปี 2030
จีนเพิ่งจะเสร็จสิ้น การประชุมสำคัญของชาติคือการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่ได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ต.ค. โดยที่ประชุมมีมติรับรองการต่ออายุให้นายสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 ต่อไปอีก 5 ปี รวมทั้งยังได้มีการเปิดตัว 7 ผู้นำในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดใหม่ ซึ่งผู้นำเหล่านี้จะร่วมกำหนดทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนตลอด 5 ปีข้างหน้าร่วมกับประธานาธิบดีสีด้วย
การสั่งสมพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และเทคโนโลยีของจีน มาอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้ในขณะนี้จีนมีความสำคัญในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี และการเมืองระหว่างประเทศที่จีนมีบทบาทมากขึ้น และมีการแข่งขันกับมหาอำนาจเดิมที่มีบทบาทมานานอย่างสหรัฐฯ โดยในการกล่าวถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในหลายเวทีไม่ได้พูดถึงแค่ความเข้มแข็งของจีน แต่พูดถึงบทบาทของจีนในการเป็นผู้นำโลกเช่น การตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา (global development initiative) ที่เข้าไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ประเทศขนาดเล็ก รวมถึงการตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางที่เชื่อมโยงจากจีนไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก
สี จิ้นผิง ร่วมประชุมเอเปค
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17 – 19 พ.ย. 2565 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผู้นำสูงสุดจีนเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และมีการหารือทวิภาคีกับรัฐบาลไทย และแม้ไม่ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในเวที APEC CEO summit ในวันที่ 17 พ.ย.ตามกำหนดการเดิมที่วางไว้แต่ก็ได้มีการ ส่งร่างสุนทรพจน์ให้กับผู้สื่อข่าวทุกสำนักทั่วโลกได้เผยแพร่ถึงเจตนารมณ์ของจีนในการเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของเอเปค
ความตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี ระบุถึงการมีบทบาทของจีนบนเวทีโลก ว่า“นักปราชญ์จีนโบราณเคยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ เริ่มจากการทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ร่ำรวย ประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการขจัดความยากจนและสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน ตอนนี้ต้องผลักดันให้ประชาชนทั้งหมดมีชีวิตที่ร่ำรวยพร้อมเพรียงกัน ความร่ำรวยร่วมกันของประเทศจีน คือการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีความปรารถนาที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม ทำให้เกิดความร่ำรวยโดยรวมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเข้าถึงประชาชนทั่วไป ยืนหยัดในการบูรณาการระหว่างตลาดและรัฐบาล
ระหว่างประสิทธิภาพและความยุติธรรม แบ่งเค้กการพัฒนาอย่างเหมาะสมสมดุล ขณะที่ทำเค้กให้ใหญ่ขึ้น สร้างโครงสร้างแบ่งบันผลิตผลในรูปคล้ายมะกอก ข้าพเจ้าได้เสนอข้อริเริ่มการพัฒนาโลก ก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการพัฒนาที่ไม่สมดุล ประเทศจีนกำลังปฏิบัติข้อริเริ่มดังกล่าวกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากกว่า 100 แห่งอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้การประชุมระดับสูงในการพัฒนาของโลกที่จัดขึ้นในปีนี้เกิดผลที่เป็นจริง ประเทศจีนพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนด้านทรัพยากรให้กับความร่วมมือการพัฒนาของทั่วโลก และจะจับมือกับฝ่ายต่าง ๆ ในการสร้างประชาคมการพัฒนาของโลก”
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคและการประชุมผู้นำที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยให้การต้อนรับประธานาธิบดีของจีนที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งมีการหารือข้อราชการแบบเต็มคณะระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชความร่วมมือครั้งใหม่ที่ต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งมีการสร้างกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน
ไทย – จีน ทวิภาคีเต็มคณะเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ไทยและจีนได้มีถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ร่างถ้อยแถลงร่วมมีประเด็นข้อราชการที่สำคัญ ได้แก่
1.การขับเคลื่อนความสัมพันธ์ะหว่างไทยกับจีน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในปี 2565 นี้ และการเตรียมการสู่การครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ในปี 2568
2.การย้ำท่าทีทางการเมืองในการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน
3.การส่งเสริมการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง รวมถึงการขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย – ลาว – จีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีของจีน โดยเฉพาะสาขาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า
4.การส่งเสริมความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เช่น สาธารณสุข การลดความยากจนและการพัฒนาชนบท และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การพนันออนไลน์ และขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์
5.การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน การกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศไทยกับจีน ร่วมมือกันฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง และเพิ่มความร่วมมือด้านการศึกษาวัฒนธรรม สื่อ และข้อมูลข่าวสาร
ฟื้นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์สองประเทศ
นอกจากนี้ถ้อยแถลงได้ระบุถึงการดำเนินการร่วมกันตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน พ.ศ.2565 – 2569 และแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 โดยมีสาระสำคัญคือ
1.แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน พ.ศ.2565 – 2569 เป็นแผนฉบับที่ 4 ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์และกรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในระยะ 5 ปี โดยกำหนดกรอบความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันใน 18 สาขา เช่น
1.การเมือง เช่น ฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย
2.การทหารและความมั่นคง เช่น แลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือในทุกระดับระหว่างกองทัพและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
3. เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน เช่น ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า อำนวย ความสะดวกทางการค้า ประสานและวางแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเชียน – จีน เสริมสร้างการประสานระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย กับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (GBA) ของจีน
4.เกษตรกรรม เช่น เพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการเกษตร อำนวยความสะดวกการนำเข้าผลไม้ กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในประเด็นเกษตรอัจฉริยะ เกษตรสีเขียว เทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรมทางการเกษตร ความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร
2..แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การพัฒนามีมาตรฐานสูง มีความยั่งยืน และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือสายแถบและเส้นทางที่มีคุณภาพสูง ส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละฝ่าย เพิ่มพูนความร่วมมือด้านรถไฟ ทางหลวง การขนส่งทางทะเล ท่าอากาศยาน พลังงาน การสื่อสาร อวกาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการลงทุน การค้า และพิธีการทางศุลกากร โดยขับเคลื่อนความร่วมมือใน 5 สาขา ตามแนวคิดหลักของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ได้แก่ การประสานนโยบาย การเชื่อมโยงด้านสิ่งอำนวยความสะดวก การค้าอย่างไร้อุปสรรค การบูรณาการทางการเงิน และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
สมคิดชี้อนาคตไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจีน
ขณะที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ “ความสัมพันธ์ไทย – จีน ในบริบทโลกที่เปลี่ยนไป” เมื่อเร็วๆนี้ว่า บทบาท และความสำคัญของจีนต่อประเทศไทยจะมากขึ้นเพราะจีนคืออนาคตของประเทศไทย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยวการค้าการขายการลงทุนไม่มีเรื่องใดไม่เกี่ยวกับจีน ทำให้ไทยต้องแสดงให้จีนเห็นว่าไทยมีความสำคัญอย่างไรในสายตาจีน
“จีนเป็นประเทศใหญ่เราต้องเอาสิ่งที่เราคิดเป็นประโยชน์ทั้งของเราและเขาและเอาเรื่องนี้ไปใส่ความคิดเขาเช่นเรื่องอีอีซีที่เคยดึงเขามาลงทุนได้เหมือนในช่วงที่ผ่านมา บทบาทผู้นำอาเซียนไทยทิ้งไม่ได้ต้องแสดงให้เห็นว่าเรายังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนกลาง และเป็นผู้นำของอาเซียนแบบที่เคยเป็นในอดีต เพราะจีนให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอย่างมากดังนั้นต้องทำให้ไทยมีความสำคัญในภูมิภาคนี้ในสายตาจีน ยังสามารถเป็นผู้นำและแกนกลางของอาเซียนได้โดยที่เราไม่ตกรุ่น” นายสมคิด กล่าว
แนะให้ความสำคัญ 3 เรื่องซื้อใจจีน
อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจยังกล่าวด้วยว่าในเรื่องของการเดินหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนนั้นต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องได้แก่
1.กระชับความสัมพันธ์ไทยจีนต้องกระชับกันให้แน่นแฟ้น ไม่บกพร่องสามารถกระชับความสัมพันธ์ได้ทุกด้าน บนผลประโยชน์ที่จะมีร่วมกันในอนาคต
2.เดินหน้านโยบายความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One belt one road)ให้ต่อเนื่องจนจบ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีโครงการต่อเนื่องจาก กทม.ไปถึงหนองคาย อย่าปล่อยให้จีนสร้างมาจนถึงเวียงจันทร์แล้วค้างอยู่อย่างนั้นโดยเรายังต่อไปไม่ถึงเสียที
และ 3.ฟื้นความร่วมมือคณะกรรมการร่วมเศรษฐกิจไทย-จีน (JC)ให้กลับมามีความต้องแข็งแรงและกลับมามีบทบาทโดนเพราะในการเชื่อมต่อไปยังคณะกรรมการถาวรทั้ง7คนของพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ต้องต่อให้ได้