สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ส้มหล่นใส่อาเซียน
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนทำให้บริษัททั่วโลกต้องทบทวนฐานการผลิตที่มีอยู่ในจีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ประโยชน์มากที่สุด อ้างอิงจากบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co.
ในระยะสั้น จะมีผลกระทบในภูมิภาคให้กลายเป็นฐานการส่งออกสำหรับโลก และสำหรับสหรัฐฯ Satish Shankar หุ้นส่วนผู้บริหารสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวกับสื่อ CNBC เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา
“ ศูนย์กลางการส่งออกที่ส่งไปจีน และที่ส่งไปสหรัฐฯ กำลังมีผลกระทบกับอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์” เขากล่าว “ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว เรารู้สึกเชื่อมั่นว่าอาเซียนจะเป็นฐานซัพพลายเชนทางเลือกที่น่าดึงดูดใจมาก สำหรับหลายบริษัทที่ต้องการย้ายฐานออกมาจากจีน”
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกในภูมิภาค รวมทั้งสิงคโปร์ ประเทศไทยและเวียดนาม
โดย Bain ทำนายว่า หลายบริษัทกำลังพิจารณาย้ายซัพพลายเชนไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ประกอบการ SME ในภูมิภาคจะมีการปรับใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการธุรกิจรายวันมากขึ้น ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสงานได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ สหรัฐฯมีมาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนมาตั้งแต่เดือนก.ค. โดยจีนโต้ตอบสหรัฐฯ ด้วยมาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเช่นกัน ทำให้เกิดภาวะสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบกับหลายบริษัท
นักลงทุนต่างจับตามองการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในการประชุมกลุ่มประเทศ G -20 ในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. ที่อาร์เจนตินา เนื่องจากพวกเขากำลังมองหาทางออกของเรื่องนี้
แม้ไม่รู้ว่าความตึงเครียดทางการค้าจะจบลงอย่างไร แต่หลายบริษัทพยายามจะหาทางเปลี่ยนซัพพลายเชนไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Shankar กล่าว
“ มีสองเหตุผล หนึ่งคือ กระบวนการได้มีการดำเนินการไปแล้ว และประสบการณ์ที่บริษัทมีกับสถานที่อย่างเวียดนาม หรือ ประเทศไทยเป็นไปในแง่บวก สองคือ เป็นวิธีการทางการค้าที่ดีที่ทำให้คุณมั่นใจว่าคุณมีความหลากหลาย และคุณไม่มีความเสี่ยงในหลายอย่าง เช่น ซัพพลายเชน”
การเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้นักลงทุนจำนวนมากสนใจที่จะเทงบลงทุนเข้ามาในภูมิภาคอย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่รายงานของกูเกิล – เทมาเส็กระบุว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7.95 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568 จากความเชื่อมโยงของโทรศัพท์มือถือกับเว็บไซต์
“ อาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก เทียบได้กับขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรกับอินเดีย มีการเติบโตอยู่ที่ 4.5% – 5% มีเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามาในภูมิภาคเป็นจำนวนมาก” Shankar กล่าว โดยเสริมว่า บริษัทที่มีอยูทำให้อาเซียนเป็น“ ฐานซัพพลายเชนที่เหมาะสมมาก”
เขาอธิบายว่า แต่ละประเทศในอาเซียนมีความพิเศษที่แตกต่าง ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีส่วนการผลิตยานยนต์ที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้กลายเป็นฐานซัพพลายทางเลือกสำหรับบริษัทในภูมิภาค ขณะเดียวกัน เวียดนามมีความแข็งแกร่งในภาคส่วนการผลิตเสื้อผ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์.