เที่ยวชิม ช้อป ย่านพาหุรัด “ลิตเติ้ล อินเดีย” เมืองไทย
ผมคุ้นเคยกับย่านพาหุรัดมาตั้งแต่ตอนย้ายบ้านเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ใหม่ ๆ โดยนอกจากจะเรียนอยู่ใกล้ ๆ ย่านนี้แล้วที่ทำงานของพ่อ ก็อยู่ไม่ไกลจากพาหุรัด-สำเพ็ง นั่นจึงทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงบางช่วงบางตอนของย่านการค้าพหุวัฒนธรรมของที่นี่มาตั้งแต่ช่วงก่อนโลกจะเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีสุดทันสมัยเต็มรูปแบบ
ภาพของย่านพาหุรัดเมื่อไม่ต่ำกว่า 20 ปีก่อน เรายังเห็นความวุ่นวายของคนมากหน้าลายตา หลากเชื้อชาติทำมาค้าขายและจับจ่ายกันในบริเวณย่านนี้กันอย่างคึกคัก เช่นเดียวกับร้านอาหารอร่อย ๆ ที่มีทั้งร้านอาหารไทย ฝรั่ง จีน ญวน และอินเดีย เรื่อยยาวไปถึงย่านเยาวราช หรือไปจนถึงอีกฝั่งคือย่านตลาดน้อย ที่มีของกินมากมายรสชาติตามแบบฉบับต้นตำรับแท้ ๆ
ประวัติศาสตร์ของย่านพาหุรัด เดิมทีมีการตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เริ่มมีจำนวนมาก และเกิดการพัฒนาขึ้นครั้งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนขึ้น โดยทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดา ซึ่งประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสิ้นพระชนม์ขณะพระชันษา 8 พรรษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทานและพระราชทานนามถนนว่า “ถนนพาหุรัด”
ขณะเดียวกันในช่วงนั้น ยังมีชาวซิกข์ ที่เดินทางจากรัฐปัญจาบของอินเดียเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยตั้งแต่ โดยเข้ามาทางประเทศมาเลเซียโดยผ่านภาคใต้ หรือมาทางบกโดยผ่านประเทศพม่า หลายคนเข้ามาเป็นพลตระเวน แต่ส่วนใหญ่นิยมทำการค้า คนไทยจึงเรียกกันติดปากว่า แขกขายผ้า ส่วนใหญ่อยู่บริเวณบ้านหม้อ และรวมกลุ่มตั้งแหล่งทำกินที่มายังย่านพาหุรัด ก่อนกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ ชาวฮินดูเชื้อสายอินเดียที่อพยพมาจากรัฐปัญจาบก็นิยมมาตั้งกิจการค้าผ้าที่พาหุรัด เช่นกัน
พาเที่ยวชมย่านขายเสื้อผ้า-สินค้าอินเดีย
หลายคนที่มาพาหุรัดส่วนใหญ่มักมีความตั้งใจมาเดือนเลือกซื้อผ้า ซึ่งแน่นอนว่าย่านนี้เป้นแหล่งรวมการขายผ้าสารพัดสี หลายหลายลวดลาย ราคามีตั้งแต่ถูกจนพรีเมี่ยม ตามแต่คุณภาพของผ้าที่ต้องการจะซื้อ โดยใครต้องการมาเดือนเลือกซื้อผ้า หรือเดินมาชมผ้าสวย ๆ ก็สามารถเดินมาเลือกดูได้บริเวณย่านติดกับถนนจักรเพชร หรือใกล้ ๆ ห้างดิโอลด์สยาม เดินข้ามถนนไปเล็กน้อยก็เจอสารพัดร้าน โดยใครอยากเดินเข้าไปเลือกในซอยก็สามารถเข้าดูได้หลายร้าน หรือถ้าไม่อยากร้อนก็เดินมาเลือกซื้อที่ห้างอินเดียเอ็มโพเรียม ใกล้ ๆ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ก็สามารถเข้าไปเลือกซื้อเสื้อผ้า หรือเครื่องแต่งกายจากอินเดียแท้ ๆ มีให้เลือกทั้ง ชุดผู้ชาย ผู้หญิง ส่าหรี หรือข้าวของเครื่องใช้มากมายจากอินเดีย
นอกจากร้านขายผ้า และเสื้อผ้าแล้ว ย่านนี้ยังรวมรวมร้านที่ขายอุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้า รวมไปเครื่องประดับตกแต่งแบบอินเดียมากมาย เช่นเดียวกับกำยาน น้ำมันหอม เทียนหอม ของใช้แบบอินเดีย และของชำร่วย เช่นเดียวกับสินค้าที่เกี่ยวกับศาสนา การบูชาเทพต่าง ๆ มาที่ที่เรียกว่าเดินเลือกซื้อหากันได้หลายตัวเลือก และในหลายจุดยังเป้นสถานที่ถ่ายรูปยอดนิยมอีกด้วย
ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พหุวัฒนธรรมย่านพาหุรัด
สิ่งก่อสร้างที่สูงและสวยสะดุดตาของคนที่มาเดินย่านพาหุรัด นั่นคือ “วัดซิกข์ศรีคุรุสิงห์สภา” ศูนย์กลางดำเนินงานของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาในประเทศไทย บนถนนจักรเพชร เดิมทีตัวอาคารมีความสูงสามชั้นประกอบด้วยที่ทำการของสมาคมและคุรุทวารา ซึ่งถือเป็นศาสนสถานถาวรของซิกข์แห่งแรกในประเทศไทย
หลังก่อสร้างเสร็จ ประเทศไทยได้อยู่ในระหว่างช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งศรีคุรุสิงห์สภานั้นตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าวัดเลียบอันเป็นเป้าหมายในการทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรถูกลูกระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ตกลงมาทะลุกลางอาคารจำนวน 2 ลูก แต่ตัวระเบิดไม่ทำงานจึงไม่เกิดการระเบิดขึ้น ชาวซิกข์เชื่อกันว่าเป็นด้วยบารมีของคุรุ ครันธ์ สาหิบ ที่ประดิษฐานในอาคารและท่ามกลางการสวดภาวนาของชาวซิกข์ที่เข้ามาหลบระเบิด
หลังสงครามสงบ อาคารคุรุทวาราได้มีรอยร้าวจากแรงสั่นสะเทือนของการทิ้งระเบิดในบริเวณเพิ่ม ความเสียหายรุนแรงเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ประกอบกับสถานที่คับแคบขึ้นเพราะศาสนิกชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น ในปี 2522 สมาคมฯ จึงได้สร้างอาคารของคุรุทวาราขึ้นใหม่ในเวลา 2 ปี มีความสูง 5 ชั้น ประกอบด้วยอาคารสองส่วน คือส่วนอาคารที่ทำการและส่วนอาคารของคุรุทวารา ซึ่งเป็นอาคารที่มียอดโดมสีทองคำสถาปัตยกรรมซิกข์ตั้งอยู่
การเข้าสักการะพระมหาคัมภีร์และชมวัดซิกข์นั้น บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ โดยต้องแต่งกายสุภาพ ถอดรองเท้า และสำหรับผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมผมด้วย ซึ่งผ้าคลุมผมทางวัดมีจัดเตรียมไว้ให้
นอกจากนี้ในบริเวณใกล้ ๆ ยังมีศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ ที่ชาวเรือจีนจากแดนไกลเคารพบูชามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ด้วยเชื่อว่าจะเสริมความร่ำรวย รุ่งโรจน์สำหรับคนที่มาขอพรกับท่าน ผู้คนจึงนิยมมากราบสักการะขอพรในเรื่องการค้าขาย ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2443 ในสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ซึ่งรอดจากการโดนแรงระเบิดแบบปาฏิหาริย์
ชิมอาหารอินเดียแท้จากร้านเก่าแก่
ใครที่หลงอาหารอินเดีย มาที่นี่ไม่มีคำว่าผิดหวัง เพราะบริเวณพาหุรัด มีร้านอาหารอินเดียซ่อนอยู่ทั่วทุกมุม ตั้งแต่ร้านข้างทาง และภัตตาคารใหญ่ มีทั้งแบบฉบับอินเดียแท้ดั้งเดิม และแบบฟิวชั่น โดยใครที่อยากมาชิมอาหารอินเดีย ต้องเดินข้ามถนนจักรเพชร ฝั่งตรงข้ามห้างอินเดียเอ็มโพเรียม จะเจอกับร้านอาหารอินเดียไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ริมคลองโอ่งอ่าง ผมจำได้ว่าสมัยเป็นเด็กประถมเคยเดินเข้ามาทางถนนข้างศาลยุติธรรม ถึงวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร เพื่อออกไปต่อรถเมล์ฝั่งถนนจักรวรรดิ เห็นร้านอาหารอินเดีย และคนอินเดียนั่งกินอาหารกันเพียบ โดยทั้งสีและกลิ่นนั้นเป็นเอกลักษณ์มาก
ปัจจุบันร้านอาหารอินเดียหลายร้าน ได้ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่ หลังจากรัฐบาลทำการรื้อปรับปรุงย่านถนนเลียบคลองโอ่งอ่างใหม่ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้น่าเดินและน่านั่งมากขึ้น ซึ่งอาหารอินเดียส่วนใหญ่ แน่นอนว่าเครื่องเทศแน่น ของหวานก็หวานสมชื่อ โดยเมนูที่ขึ้นชื่อที่เข้าไปในร้านแล้วต้องลองสั่ง คือ ข้าวหมกแพะ หรือ ข้าวหมกไก่ ที่เป็นข้าวบัสมาติเมล็ดยาว หรือชิมไก่ทันดูรี เป็นไก่ย่างสีแดงคลุกด้วยเครื่องเทศ แกงชนิดต่าง ๆ ที่ต้องกินคู่กับแป้งนานสารพัดชนิด หรือจะเป้นของกินเล่นอย่าง ซาโมซ่า โมโม่ และปานิ ปูริ ตบท้ายด้วยของหวาน อย่าง กุหลาบ จามุน ซึ่งทำมาจากแป้งผสมนม ปั้นกลมๆ ทอดในเนยกี (Ghee) วางในน้ำเชื่อมหวานเจี๊ยบ ไว้ละเลียดชิมคู่กับน้ำชา
การเดินย่อยชมบรรยากาศคลองโอ่งอ่าง
ปิดท้ายหลายจากอิ่มพุงกางกับอาหารอินเดียแล้ว นำให้เดินเที่ยวชมบรรยากาศสวย ๆ ริมคลองโอ่งอ่าง ซึ่งถูกปรับปรุงให้กลายมาเป็นจุดแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมทีคลองโอ่งอ่าง ถือว่ามีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ช่วงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะถือเป็นช่วงหนึ่งของคลองรอบกรุง มีขอบเขตจากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลอง ซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ข้าง ๆ กับสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีระยะทางรวมประมาณ 750 เมตร สมัยก่อนผมเคยไปเที่ยวที่นี่บ่อย ๆ โดยหลายคนเรียกกันว่า สะพานเหล็ก เดิมที่นี่เป็นสวรรค์ของเด็กผู้ชาย เพราะเป็นแหล่งขายของเล่น และศูนย์รวมเครื่องเล่นเกมส์มากมาย เดินทั้งวันก็ไม่เบื่อ
แต่ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร ปรับปรังภูมิทัศน์ใหม่ โดยรื้อถอนอาคารร้านค้าต่าง ๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดินที่ร่มรื่นรวมถึงมีร้านค้า และมีความสวยงามทางศิลปะ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคล้ายกับคลองช็องกเยช็อน ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เวียนกันไปหลายเทศกาล และล่าสุดคือการจัดเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลไฟ ถือเป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของคนเชื้อสายอินเดียทั่วโลก ที่จะออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ โดยประเทศไทย จัดงานขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 – 23 ต.ค. 2565 บริเวณย่านลิตเติ้ลอินเดีย ถนนพาหุรัด คลองโอ่งอ่าง สะพานเหล็ก
ใครสนใจก็รองไปเที่ยวย่านพาหุรัดดูสักครั้ง ไปวันเดียวเที่ยวกันได้ครบไม่มีเบื่อ