‘รัฐบาล’ เตือนภัยออนไลน์แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรีห่วงใยเยาวชนจากภัยออนไลน์ หวั่นปัญหาล่อลวงนำไปสู่ความสูญเสีย แนะผู้ปกครองดูแลการใช้โชเชียลมีเดียของบุตรหลานใกล้ชิด มอบหน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาแนวทางอุดช่องว่างกฎหมาย
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความห่วงเยาวชนจากภัยออนไลน์ ที่ปัจจุบันมิจฉาชีพและผู้ไม่หวังดีแฝงตัวและเข้ามากระทำไม่เหมาะสมผ่านการล่อลวง (Grooming) และนำไปสู่การกระทำผิด อาทิ การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขู่แบล็กเมล จนอาจนำไปสู่ความสูญเสียต่างๆ
ทั้งนี้ มีข้อมูลการสำรวจจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิศานติวัฒนธรรม ซึ่งได้สำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ 2565 ในเยาวชนกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี พบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าเยาวชนอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยออนไลน์
ตามข้อมูลระบุว่าจากเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง 31,965 คน ร้อยละ 81 มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน ร้อยละ 85 ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวันหรือเล่นเกมอย่างหนัก โดยเด็กกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54 เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร ร้อยละ 36 มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงที่คนร้ายจะหลอกให้เด็กตกหลุมรัก ขอภาพลับ นัดพบเพื่อละเมิดทางเพศแล้วถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล อาจนำไปสู่ปัญหาซึมเศร้าและอาจฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมีภัยอื่นๆ อาทิ การถูกรังแกหรือบูลลี่ออนไลน์ การเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย อันตราย เล่นพนันออนไลน์ เป็นต้น
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงข้อมูลปัญหาดังกล่าวและมีความห่วงใยต่อเยาวชนจากภัยออนไลน์ และเห็นว่าปัญหานี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองในฐานะผู้ใกล้ชิดมากที่สุด ต้องดูแลการใช้โซเชียลมีเดียของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด มีการพูดคุยให้ข้อคิด คำแนะนำต่างๆ โรงเรียน สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจถึงการใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างถูกต้องและปลอดภัย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาในประเด็นที่ยังมีช่องว่างทางกฎหมาย เช่น กรณีที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เอาผิดกับผู้ที่เริ่มมีพฤติกรรมการล่อลวงเด็กด้วยวัตถุประสงค์ทางเพศ (grooming) โดยยังไม่มีการพาไปหรือลงมือกระทำล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำผิดตั้งแต่ต้นไม่รอจนเกิดการกระทำผิดและเสียหายก่อน เป็นต้น