ประท้วงเงินบำนาญในรัสเซีย
ประชาชนนับพันคนเข้าร่วมในการประท้วงในหลายเมืองทั่วรัสเซีย เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเลื่อนอายุการรับเงินบำนาญออกไป
กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในกรุงมอสโก ต่างพากันถือป้ายประท้วงทีมีข้อความว่า “ เราต้องการใช้เงินบำนาญของเรา ไม่ใช่ทำงานจนตาย”
รัฐบาลรัสเซียระบุว่า ต้องการปรับอายุการรับเงินบำนาญจากการเกษียณอายุ 60 ปีเป็น 65 ปีสำหรับผู้ชาย และจาก 55 ปีเป็น 63 ปีสำหรับผู้หญิง เพื่อเป็นการรับมือกับกำลังแรงงานที่หดตัว แต่สหภาพแรงงานเตือนว่า คนจำนวนมากจะไม่มีชีวิตยืนยาวพอที่จะได้รับเงินบำนาญ
อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การการค้าโลก ผู้ชายชาวรัสเซียมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 66 ปีเท่านั้น ขณะที่ผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ปี
ทั้งนี้ มีประชาชนประมาณ 12,000 คนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงไปตามถนนหลายสายในกรุงมอสโกเพื่อประท้วงแผนการที่รัฐบาลเสนอโดยการเดินขบวนที่ได้รับอนุญาตยังเกิดขึ้นในอีกหลายสิบเมืองทางตะวันออกไกลของรัสเซีย และไซบีเรียด้วย
การเดินขบวนประท้วงในระดับชาติเป็นการจัดงานและประสานงานจากพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ( CPRF) แต่คนจากสหภาพการค้าและ ผู้รักชาติจำนวนมากก็เข้าร่วมในการประท้วงครั้งนี้ด้วย
กลุ่มผู้ประท้วงถือธงสีแดง และสัญลักษณ์ของฝ่ายซ้ายอื่นๆ และร้องเพลงสงครามที่ว่า คอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือนาซีเยอรมัน และยังถือป้ายที่มีสโลแกนว่า “ เราไม่มีชีวิตอยู่นานขนาดนั้น” และ “ รัฐบาลออกไป”
นักเคลื่อนไหวหลายคนสวมชุดคนตาย บางคนมีโครงกระดูก และเคียวด้ามยาว พวกเขาโวยวายว่า การปฏิรูปเหมือนเป็นโทษประหารชีวิตสำหรับประชาชนรัสเซีย
ถึงแม้จำนวนผู้ประท้วง 12,000 คนจะไม่ใช่จำนวนมากสำหรับกรุงมอสโก แต่การเดินขบวนประท้วงครั้งนี้ถือเป็นการประท้วงต่อต้านการปฏิรูปเงินบำนาญครั้งใหญ่ที่สุดในรัสเซีย
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. Gennady Zyuganov ผู้นำของ CPRF กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงมอสโกว่า แผนเงินบำนาญของรัฐบาลเป็นเหมือนระเบิดสำหรับพลเมืองทุกคนในประเทศของเรา สำนักข่าว AFP รายงาน
โดยผู้ประท้วงระบุว่า รัฐบาลควรเก็บเงินจากคนรวย ไม่ใช่มาขโมยเงินจากประชาชนคนทำงานทั่วไป
ทั้งนี้ มีประชาชนประมาณ 3 ล้านคนที่ลงชื่อในคำร้องคัดค้านข้อเสนอปฏิรูปเงินบำนาญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินจากพรรค United Russia ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลครั้งนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายมากที่สุด และเป็นการปฏิรูปที่มีความเสี่ยงที่สุดต่อการปกครองรัสเซียยาวนานถึง 20 ปีของประธานาธิบดีปูติน
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูติน ซึ่งไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปเงินบำนาญเลยก่อนการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ถูกลดตัวเลขความเชื่อถือจากประชาชนจากเดิม 80% ในเดือนพ.ค. ลงเหลือเพียง 64% ในเดือนก.ค.นี้ อ้างอิงจากโพลล์ VTsIOM ของรัฐบาล.