SPICA BEAR ของเล่นสุดล้ำ
จะดีแค่ไหนหากของเล่นชิ้นโปรดของเราสามารถเคลื่อนไหวได้เสมือนมีชีวิต ตอบโต้พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้ที่เล่นได้
สองพี่น้องวัยหนุ่ม พิศร และจิรวัชร์ แห่งตระกูล “ จึงวิวัฒน์อนันต์ ” เจ้าของบริษัท ฟินิก้อน อินโนเวชั่น จำกัด คือผู้ที่ Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาจากลิ้นชักแห่งความทรงจำในวัยเด็กของทุกคน ภายใต้แบรนด์ “ สไปก้า แบร์ ” (Spica Bear)
สร้างธุรกิจจากลิ้นชักแห่งความฝัน
พิศร ผู้เป็นพี่เป็นตัวแทนบอกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า มาจากแนวคิดที่เชื่อว่าคนทุกคนมีฝันที่อยากให้ของเล่นชิ้นโปรดของเรามีชีวิตสามารถเล่นกับเราได้ ด้วยความที่ตนเองและน้องชายมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงเกิดแนวคิดในการนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาผสมผสานเข้ากับหลักทางการตลาด เชื่อมต่อกับของเล่น โดยเลือกตัวแทนของสัญลักษณ์แห่งการสื่อสารผ่านตุ๊กตาหมี รังสรรค์โลกแห่งจินตนาการปลุกความฝันในวัยเด็กให้กลายเป็นความจริง ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
สำหรับโปรแกรมที่สร้างตุ๊กตาหมีให้เสมือนมีชีวิตได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมคือ โปรแกรม AR (Augmented Reality) ที่สามารถสร้างภาพ 3 มิติให้เกิดขึ้นได้ เพียงแค่ผู้เป็นเจ้าของตุ๊กตาหมี Spica Bear โหลดแอพฯ ที่เปิดให้บริการทั้งระบบ IOS และ Android แบบไม่เสียค่าบริการ หลังจากนั้นก็เพียงเปิดแอพฯ เพื่อส่องกล้องแสกนไปยังป้ายชื่อบนตัวตุ๊กตาหมี จากเจ้าหมีน้อยที่นั่งอยู่นิ่งๆ ก็จะเคลื่อนไหวได้พร้อมกับเสียงพูดปรากฏอยู่บนหน้าจอของสม์ทโฟน ช่วยเติมเต็มจินตนาการให้แก่เด็ก และผู้ใหญ่ที่เคยมีฝันดังกล่าว
“ ตอนที่เราสร้าง Spica Bear เรานึกถึงตอนเด็กที่อยากให้ตุ๊กตามีชีวิตสามารถเล่นกะเราได้ โดยเชื่อว่าทุกคนคงเคยเล่นของเล่นและจินตนาการว่าสิ่งนั้นเป็นตัวละครต่างๆที่มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่เราทำคือการสร้างนวัตกรรมที่มอบความสุขให้กับครอบครัวให้กับเด็ก ให้กับวัยรุ่น กลุ่มคนที่ต้องการให้ความฝัน หรือจินตนาการในตอนเด็กถูกเติมเต็มให้เป็นความจริงได้ โดยไม่มีขีดจำกัดเรื่องของจินตนาการที่อยู่ในแค่อากาศ แต่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้”
ด้านความสามารถของตุ๊กตาหมีที่ใช้โปรแกรม AR นั้น จะมีฟังก์ชั่นให้ผู้ใช้งานเลือกเล่นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการมีปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อแตะไปที่ตัวหมีบนหน้าจอ (Interactive Animation) ,การถ่ายภาพ บันทึกเป็นวีดีโอกับตุ๊กตาหมีเพื่อแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย ,การให้หมีเป็นสื่อแทนใจด้วยการทำท่าทางต่างๆบอกข้อความ หรือความรู้สึกแก่คนพิเศษ และการเล่นเกมส์ต่างๆ ร่วมกับหมี เป็นต้น
เลือกวัสดุระดับพรีเมี่ยม
หากถามถึงจุดเด่นของตุ๊กตาหมีนั้น แน่นอนว่านอกจากเทคโนโลนี AR ที่นำมาประยุกต์ใช้ให้เจ้าหมีน้อยเสมือนกับมีชีวิตจริงขึ้นมาได้แล้ว ทางด้านของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นตัวตุ๊กตาหมี พิศร บอกว่า วัสดุที่เราเลือกนำมาใช้ในการผลิตก็คือวัสดุระดับพรีเมี่ยมทั้งภายนอกและภายใน โดยเริ่มต้นจากภายนอกซึ่งจะใช้ผ้าสักหลาดนำเข้าจากประเทศเกาหลี ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นสูง และมีฟิลเลอร์เคลือบ ทำให้เมื่อถูกนำไปวางบนเชลฟ์จำหน่ายสินค้าตัวตุ๊กตาหมีจะเกิดประกายดึงดูดสายตา
ขณะที่วัสดุภายในเป็นผ้าคอตตอนแท้ (Cotton) 100% เกรดพรีเมี่ยมที่ใช้เพื่อการส่งออก โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญคือไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้กับเด็ก ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นจุดที่สำคัญที่ลูกค้าจากต่างประเทศให้ความสนใจก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น จึงทำให้ง่ายต่อการขยายตลาดในอนาคต
“ ตามปกติโรงงานจะไม่รับเย็บผ้าที่เรานำเข้ามา เพราะตัดเย็บได้ยากและมีราคาสูง จึงเป็นที่มาของจุดเด่นที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับตุ๊กตาหมีแต่ละตัว ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในการแสดงความรู้สึกผ่านทางใบหน้า เนื่องจากตุ๊กตาหมีทุกตัวมาจากการทำมือทุกขั้นตอน โดยเป็นการสร้างกลยุทธ์ในการมีส่วนร่วมให้กับลูกค้า เพื่อเลือกตุ๊กตาหมีที่เหมาะกับความรู้สึกของตนเองให้มากที่สุด ”
เน้นออนไลน์กระจายสินค้า
พิศร บอกอีกว่า ช่องทางในการทำตลาดที่สำคัญในปัจจุบันนั้น เราจะเลือกใช้วิธีจำหน่ายผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถอธิบายวิธีการใช้งานให้กับผู้ที่สนใจได้ผ่านทางวิดีโอ ควบคู่ไปกับการออกงานแสดงสินค้า ซึ่งจะได้อธิบายวิธีการเล่นตุ๊กตาหมีได้โดยตรงกับผู้บริโภค โดยหลังจากที่ได้นำตุ๊กตาหมี Spica Bear ออกวางจำหน่ายก่อนสิ้นปี 2559 ปรากฏว่าสามารถจำหน่ายได้ทั้งหมด 250 ตัวภายในเวลาที่ไม่นานนัก และมีผู้ที่ติดต่อเข้ามาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 20 ราย แต่ด้วยความที่เราต้องการควบคุมคุณภาพในการผลิต จึงยังไม่ได้ตกลงให้ใครเป็นตัวแทนจำหน่าย อีกทั้งการใช้งาน Spica Bear จะต้องอธิบายให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจ หากตัวแทนที่นำไปจำหน่ายไม่รู้จริง และอธิบายให้ลูกค้าได้ไม่เข้าใจ อาจจะส่งผลเสียมายังบริษัทได้
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราก็คือกลุ่มเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยแม้ว่าตุ๊กตาหมีจะไม่ใช่ของที่จำเป็น แต่หากในอนาคตเราสามารถพัฒนาให้หมีทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่ตั้งประดับอยู่กับที่ ด้วยการเพิ่มความสามารถให้ทำได้ทุกอย่างเหมือนแฟน หรือเวลาที่เหงาก็พูดคุยกับหมีได้เหมือนเพื่อน จนถึงขั้นหมีสามรรถเล่านิทานให้เราฟังได้ โดยเราจะมีการอัพเดทซอฟแวร์ในการใช้งานเพิ่มความสามารถของตุ๊กตาหมีเป็นระยะ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง”
เตรียมเหินฟ้าตีตลาด USA
พิศร ปิดท้ายด้วยเป้าหมายทางการตลาดจากจุดเล็กๆแต่กำลังจะเป็นก้าวที่สำคัญด้วย ว่า ในปี 2560 ตั้งใจจะจำหน่ายตุ๊กตาหมี ให้ได้ 1,000-10,000 ตัวภายในประเทศ ส่วนการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศนั้น จะเริ่มส่งสินค้าเข้าไปทำตลาดตั้งแต่ไตรมาส 4/60 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านช่องทางของเว็บไซด์อะเมซอน (www.amazon.com) โดยเชื่อว่าภายใน 1 ปีจะสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 1 แสนตัว ขณะที่ประเทศในลำดับถัดไปที่จะเข้าไปทำตลาดคือญี่ปุ่น ซึ่ง Spica Bear ได้มีโอกาสไปทดลองทำตลาดที่ศูนย์การค้าเกตุเวย์ เอกมัย (Gateway) โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น เนื่องจากชาวญี่ปุ่นจะชื่นชอบงานทำมือ และสินค้าที่เป็นพรีเมี่ยม
“ลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นจะเป็นแบบชาตินิยม ดังนั้นการเข้าไปทำตลาดจะต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งมีแนวคิดใกล้เคียงกัน และเชื่อว่านี่คือธุรกิจแห่งอนาคต โดยเราอาจจะออกแบบเป็นตุ๊กตาหมีที่ใส่ชุดกิโมโนมาเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดลูกค้า”