ชาติอิสลามกดดันเมียนมาเรื่องโรฮิงญา
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.รัฐมนตรีต่างประเทศชาติอิสลามเริ่มดำเนินการเคลื่อนไหวขอการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อให้มีท่าทีกดดันเมียนมาในวิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญา
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและนักการทูตจาก 53 ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในระหว่างการประชุมเป็นเวลา 2 วันในกรุงธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศ
ยูเซฟ บิน อาห์เหม็ด อัล-โอไทมีน เลขาธิการทั่วไปของ OIC เรียกร้องให้มีความเคลื่อนไหวเพื่อเป็นก้าวสำคัญที่จะยุติวิกฤตที่ทำให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 700,000 คนต้องลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
เขาระบุว่า คณะกรรมการชุดใหม่จะขับเคลื่อนและประสานความร่วมมือจากการสนับสนุนทางการเมืองจากนานาชาติในวิกฤตการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาวโรฮิงญา “ นี่สำคัญมาก นี่เป็นหนึ่งในก้าวที่มั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับพี่น้องชาวโรฮิงญา ” เขากล่าว
ทหารเมียนมาเข้าปฏิบัติการปราบปรามในรัฐยะไข่ในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ทำให้มีชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นอพยพลี้ภัยไปบังคลาเทศ ที่ซึ่งมีจำนวนผู้ลี้ภัย ประมาณ 300,000 คนพักพิงอยู่แล้วจากผลของความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในเมียนมาชนกลุ่มน้อยมุสลิม
องค์การสหประชาชาติและสหรัฐฯ แถลงว่า การปราบปรามครั้งนี้ถือเป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ แต่กองทัพเมียนมาปฏิเสธว่า การปราบปรามมีเป้าหมายที่กลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุรุนแรงเท่านั้น
มีรายงานว่า ชาวโรฮิงญาถูกสังหารและถูกข่มขืนจนต้องอพยพลี้ภัยไปเป็นจำนวนมาก โดยพวกเขาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ทหารเมียนมาเผาหมู่บ้านของพวกเขานับร้อยหมู่บ้าน
ทั้งนี้ อัล – โอไทมีนกล่าวว่า กลุ่มประเทศมุสลิมจำเป็นต้องกดดันประชาคมนานาชาติ
“ นี่ไม่ใช่เรื่องศาสนา นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องของเราในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ” เขากล่าว
อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศเรียกร้องให้มีกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้มีการสอบสวนการกระทำความผิด ซึ่งมีทั้งการข่มขืนและสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา
โดยบังคลาเทศมีความพยายามทางการทูตที่จะผลักดันให้มีการกดดันเมียนมาเพื่อให้รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศอย่างปลอดภัย ส่งผลให้ทั้งสองประเทศลงนามในข้อตกลงที่จะส่งผู้ลี้ภัยคืนตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีใครกลับมาเลยแม้แต่คนเดียว (ตรงข้ามกับรายงานข่าวของทางการเมียนมาที่ระบุว่า มีครอบครัวแรกของชาวโรฮิงญาเดินทางกลับเข้ามาที่เมียนมาแล้ว)
ชาวมุสลิมโรอิงญาถูกข่มเหงมานานหลายทศวรรษในเมียนมา ที่ซึ่งพวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้มีสถานะพลเมืองและถูกปฏิบัติเป็นเพียงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ
ในเดือนเม.ย.ผู้แทนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เดินทางมาเยือนค่ายผู้ลี้ภัย และเรียกร้องให้มีการส่งคืนชาวโรอิงญากลับเมียนมาอย่างปลอดภัย และยุติการแบ่งแยกเชื้อชาติกับพวกเขา
Chrystia Freeland รมว.ต่างประเทศของแคนาดาก็ได้เรียกร้องให้มีความรับผิดชอบร่วมกันเช่นกันเมื่อเธอมาเยือนค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในสัปดาห์นี้
A.H.Mahmood Ali รมว.ต่างประเทศของบังคลาเทศกล่าวว่า การประชุมของ OIC ได้กระตุ้นให้มีการแสดงท่าทีที่หนักแน่นกับรัฐบาลเมียนมาในวิกฤตชาวโรฮิงญา.