โรคไข้ละอองฟางแพร่ในญี่ปุ่น
ฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่นทำให้ประเทศมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาชมซากุระที่บานสะพรั่งก็จริง แต่ก็ทำให้เกิดโรคไข้ละอองฟางที่กระทบธุรกิจทั่วประเทศด้วยเช่นกัน
ญี่ปุ่นต้องสูญเงินประมาณ 200,000 ล้านเยน หรือราว 57,294 ล้านบาทในปีนี้เพราะประชาชนจำนวนมากมีอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ (หรือโรคไข้ละอองฟาง) เพิ่มขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันวิจัยไดอิจิไลฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในกรุงโตเกียว
ความเสียหายเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ อ้างอิงจากความเห็นของโทชิฮิโร นากาฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน มีประชาชนน้อยลงที่ออกไปข้างนอก และแรงงานที่เป็นโรคไข้ละอองฟางต้องเจ็บป่วยใช้เวลารักษาตัวที่บ้านนานขึ้น หรือหากพวกเขาไปทำงาน ก็จะมีความสามารถในการทำงานลดลง
และในปีนี้ ถือเป็นหนึ่งในปีที่ย่ำแย่ที่สุดสำหรับจำนวนผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคไข้ละอองฟางในญี่ปุ่น โดยละอองเกสรดอกไม้ที่พัดปลิวกระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้มีผู้เจ็บป่วยมากขึ้นกว่าเดิมถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน
กรุงโตเกียวก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน จากผลสำรวจของรัฐบาลของเมืองในปีนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนครึ่งหนึ่งของเมืองมีอาการของโรคไข้ละอองฟาง เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เป็นโรคนี้ 1 ใน 3 ของปี 2551
โดยสาเหตุสำคัญของปัญหาคือความพยายามที่จะฟื้นฟูป่าไม้ของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โชคร้ายสำหรับผู้เจ็บป่วยจากโรคไข้ละอองฟางที่จำนวนต้นไม้ที่ปลูกมากที่สุดคือต้นสนซีดาร์และไซปรัส ซึ่งตอนนี้กำลังโตเต็มที่ จึงผลิตละอองเกสรดอกไม้ออกมามากที่สุด
กรุงโตเกียวต้องใช้งบประมาณถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 222.81 ล้านบาท เพื่อตัดต้นไม้ที่ผลิตละอองเกสรดอกไม้และแทนที่ต้นไม้เหล่านั้นด้วยต้นไม้ชนิดอื่นๆที่ผลิตละอองเกสรดอกไม้น้อยกว่า
ทางการปลูกต้นไม้ใหม่ทดแทนในพื้นที่ประมาณ 60 เฮคตาร์ทุกปีหลังปี 2549 เป็นต้นมา แต่การถอนต้นไม้จำนวนมากในเวลารวดเร็วเกินไปอาจก่อให้เกิดเหตุดินถล่มและน้ำท่วมจากภูเขารอบกรุงโตเกียวได้
“มันไม่พอ” มาโมรุ อิชิงาคิ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบป่าไม้ของกรุงโตเกียวกล่าว โดยเขาเสริมว่า กรุงโตเกียวมีพื้นที่ต้นไม้ซึ่งผลิตละอองเกสรดอกไม้ถึงประมาณ 30,000 เฮคตาร์
“ผมอยากจะเพิ่มจำนวนต้นไม้ที่ปลูกใหม่ทดแทน แต่มันต้องใช้เวลานานถึง 100 – 200 ปี จึงจะสมบูรณ์” อิชิงาคิกล่าว และค่าใช้จ่ายของโครงการปลูกต้นไม้ทดแทนจะเพิ่มเป็นหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเสียเงินจากโรคไข้ละอองฟาง เพราะความต้องการหน้ากากอนามัยและยาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทยาและร้านขายยามียอดขายที่พุ่งทะยาน
ยอดขายยาแก้ไข้ละอองฟางเพิ่มสูงขึ้นเป็น 20,000 ล้านเยน หรือราว 5,856 ล้านบาท ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงจากบริษัทวิจัยทางการแพทย์ Anterio ของญี่ปุ่น ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ในปีก่อน.