สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ค. 65
ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ชัยนาท (118 มม.) จ.พิษณุโลก (116 มม.) และ จ.บุรีรัมย์ (78 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,436 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,890 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) ภาคตะวันออก (1 แห่ง)
กอนช. ประกาศฉบับที่ 14/2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งทำให้พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 19-25 พ.ค. 65 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานีนครราชสีมา ชัยภูมิ บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนมกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระนอง พังงา และภูเก็ต ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้า
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเน้นย้ำให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเร่งดำเนินการ ดังนี้
จัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ตลอดจนบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมโดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการจัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วม
ให้ความเห็นต่อแผนงานและโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้าน และแผนพัฒนาจังหวัด ดำเนินการร่วมกับทุกหน่วยงานด้านน้ำและกรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง