มาร์คเข้าให้ปากคำต่อสภาคองเกรส
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กจะใช้เวลาสองวันในการตอบคำถามส.ส.เกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์คทรงอิทธิพลที่เขาสร้างสรรค์มานานกว่าทศวรรษ ในประเด็นที่ว่าบริษัทได้ทำอะไรเพียงพอหรือไม่ในการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
เป็นครั้งแรกที่ซัคเคอร์เบิร์กจะเข้ามานั่งตอบคำถามจากสภาคองเกรสเป็นการส่วนตัว แทนที่จะส่งตัวแทนจากบริษัทมา และคำให้การของเขาจะเป็นเหมือนช่วงเวลาปักหมุดที่สำคัญสำหรับเฟซบุ๊ก และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยรวม
โดยซัคเคอร์เบิร์กเตรียมพร้อมที่จะเข้าให้ปากคำในวอชิงตันในวันที่ 10-11 เม.ย.
เขาจะปรากฎตัวในการไต่สวนร่วมที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการตุลาการและพาณิชย์ของวุฒิสภาในวันที่ 10 เม.ย. เริ่มตั้งแต่เวลา 14.15 น. หลังจากนั้น ซีอีโอเฟซบุ๊กจะเข้าให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ในวันที่ 11 เม.ย. เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น.
โดยการไต่สวนมีกำหนดการจะสอบถามในประเด็นการใช้งานเฟซบุ๊กและการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน จากกรณีข่าวฉาวที่ข้อมูลรั่วไหลไปอยู่ในมือของบริษัทที่ปรึกษาการเมือง Cambridge Analytica
ทั้งนี้ ซัคเคอร์เบิร์กถูกตำหนิและกล่าวโทษในปัญหาที่เฟซบุ๊กกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ อ้างอิงจากเอกสารที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎร
คาดการณ์ว่าเขาจะยอมรับว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ลงมือทำมากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ บนแพลตฟอร์ม เช่น ข่าวลวง การแทรกแซงการเลือกตั้งโดยชาวต่างชาติ ข้อความที่แสดงความเกลียดชังอย่างรุนแรง และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
“ เราไม่ได้มีมุมมองที่กว้างเพียงพอสำหรับความรับผิดชอบของเรา และนั่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ นี่เป็นความผิดพลาดของผม และผมขอโทษ ผมเริ่มต้นสร้างเฟซบุ๊ก บริหารบริษัทมา และผมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ ”
ตั้งแต่ปี 2559 เฟซบุ๊กต้องประสบกับปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม
เริ่มตั้งแต่ความกังวลเกี่ยวกับข่าวลวงที่แพร่กระจายในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากนั้นก็มีคำถามเกี่ยวกับการแทรกแซงของรัสเซีย และมีรายงานว่า โดยรัสเซียลงโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเพื่อตั้งเป้าที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก
แต่ข่าวฉาวครั้งใหญ่ที่สุดคือข่าวที่บริษัทที่ปรึกษาการเมือง Cambridge Analytica ซึ่งทำงานในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุุ๊กมากถึง 87 ล้านรายโดยไม่ได้รับคำยินยอมจากผู้ใช้งาน
หลังจากนั้น หุ้นของเฟซบุ๊กก็ดิ่งร่วง และกลุ่มส.ส.มีการเรียกร้องให้มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา ผู้นำในองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำมักหลีกเลี่ยงที่จะปรากฎตัวในการไต่สวนพิจารณาของสภาคองเกรส
นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับซัคเคอร์เบิร์กที่จะแก้ไขวิกฤตศรัทธาของบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บางคนถึงกับเรียกร้องให้ซัคเคอร์เบิร์กลงจากตำแหน่งซีอีโอด้วยซ้ำ ความสามารถในการตอบคำถามของเขาต่อหน้าสภาคองเกรสอาจเป็นการช่วยแผ่ขยายความมั่นคงในงานของเขา.