เกาหลีใต้หนุนคนทำงานน้อยลง
หน่วยงานรัฐบาลเกาหลีใต้ในกรุงโซลต้องการให้พนักงานทำงานน้อยลง ไม่ทำงานหนักเหมือนแต่ก่อน และต้องทำถึงขนาดปิดไฟและปิดคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการหยุดไม่ให้พวกเขาทำงานจนดึก
เริ่มต้นในสัปดาห์นี้ ทางการจะปิดไฟฟ้าในศาลากลางกรุงโซลในเวลา 20.00 น.ทุกวันศุกร์เพื่อจำกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานล่วงเวลาในตอนกลางคืน โดยในเดือนพ.ค. จะชัทดาวน์เร็วขึ้นเป็นเวลา 19.00 น.
การทำงานหนักเป็นวิถีชีวิตของพลเมืองเกาหลีใต้มาโดยตลอด เป็นเรื่องปกติที่จะเริ่มทำงานแต่เช้าและเลิกงานตอนกลางคืน ญี่ปุ่นเองก็กำลังต่อสู้กับปัญหานี้ เนื่องจากมีผลกระทบทางสังคมจากการทำงานหนักเกินไป
นายจ้างในเกาหลีใต้มักกระอักกระอ่วนใจที่จะให้พนักงานมีวันหยุดมากเกินไป ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีสิทธิก็ตาม ดร.อีจินฮง อาจารย์ผู้ทำวิจัยด้านรัฐสวัสดิการที่มหาวิทยาลัยยอนเซในกรุงโซลกล่าว
ในเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานเพิ่มมากกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปีจากเวลาเฉลี่ยในประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ อ้างอิงจากผลการสำรวจของรัฐบาลที่เผยแพร่ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
โดยมาตรการชัทดาวน์ในค่ำวันศุกร์ รัฐบาลเกาหลีใต้หวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นๆ ได้ลงมือทำอะไรมากขึ้นเพื่อส่งเสริมความตระหนักในความสมดุลของชีวิตการทำงาน ชเวโฮจิน โฆษกของศาลากลางกล่าว
มาตรการบังคับใหม่นี้อาจง่ายกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากรัฐบาลเคยผลักดันให้มีการดับไฟในเวลา 18.00 น. สำหรับทุกวันศุกร์ แต่ก็ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้มีการยกเว้นในหลายกรณี
มาตรการล่าสุดที่ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานถือเป็นการก้าวหน้าไปอีกขั้น และไม่เหมือนที่ผ่านมา รัฐบาลระบุว่า ไม่มีการอนุมัติคำขอยกเว้นใดๆ หรือข้อเรียกร้องสำหรับการทำงานล่วงเวลาเกินเวลาของการปิดไฟ
โดยอาจารย์ฮง ซึ่งสอนประจำที่มหาวิทยาลัยยอนเซ ปรบมือให้กับแคมเปญนี้ โดยกล่าวว่า เธอคิดว่าจะมีประสิทธิภาพในการช่วยควบคุมการทำงานของพนักงาน
“ นี่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจริงๆ ” เธอกล่าว
ในปัจจุบัน ประเด็นการทำงานหนักมากเกินไปจนเกินเวลากลายเป็นประเด็นร้อนในเกาหลีใต้ โดยประธานาธิบดีมุนแจอิน ได้สัญญาที่จะลดเวลาการทำงาน และให้วันหยุดราชการเพิ่มขึ้นอีกในปีที่แล้ว
ไม่เหมือนกับที่ผ่านมา “ นี่กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากขึ้นที่ชี้ว่ามันมีปัญหา ” อ้างอิงจากวัฒนธรรมการทำงาน อาจารย์ฮงกล่าว
การชัทดาวน์คืนวันศุกร์ในกรุงโซลดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ขึ้น แม้ว่าหลายบริษัทจะเริ่มเกื้อหนุนเรื่องสิทธิของพนักงานที่อยากลดเวลาการทำงานให้น้อยลงก็ตาม
ที่ศาลากลาง โฆษกชเวกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ขานรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ถึงแม้หลายคนจะกังวลว่า พวกเขาไม่สามารถทำงานได้เสร็จทันเวลาของการชัทดาวน์ก็ตาม
เธอเสริมว่า นี่เป็นเรื่องน่ากังวลว่าคนพวกนี้อาจจะหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้าน.