เอเชีย – สมรภูมิสู้มลภาวะ
เอเชียเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้เพื่อควบคุมมลพิษในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 5 ล้านคนต่อปี ผู้แทนในการประชุมสหประชาชาติระบุเมื่อวันที่ 21 มี.ค. โดยได้เอ่ยถึงกระบวนการควบคุมที่ยากลำบากมากขึ้น
องค์การอนามัยโลก ( WHO) มองมลพิษทางอากาศว่าเป็นความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพมนุษย์ ประมาณ 90% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก
“ มีความเป็นเหตุเป็นผลว่า หากคุณเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องอยู่ในตัวเมืองที่คุณไม่สามารถหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปได้” Dechen Tsering ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกของโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติกล่าวในงานประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน
“ ยังมีความรู้สึกที่ดีเพิ่มขึ้นว่า มีเทคโนโลยี มีการเงินที่คอยสนับสนุน” Tsering เสริมว่าภูมิภาคเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้
ทั้งนี้ มากกว่า 2 ใน 3 ของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ในระหว่างปี 2551 – 2556 WHO ระบุในรายงานเมื่อปี 2559
Karin Hulshof ผู้อำนวยการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสำหรับองค์กรยูนิเซฟ ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือเด็กของสหประชาชาติระบุว่า เด็กเป็น
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเสริมว่า เด็กๆประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่อากาศเป็นพิษ
“ สิ่งที่เรากำลังมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในบางเมืองอย่างอูลานบาตาร์ คือโรงพยาบาลเต็มไปด้วยเด็กๆที่ทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่เกิดจากมลพิษในอากาศ ” Hulshof เอ่ยถึงวิกฤตสาธารณสุขครั้งสำคัญในเมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย
การจำกัดการปล่อยปริมาณไอเสียเป็นเรื่องง่าย แต่กลับไม่ค่อยมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในเอเชีย Andreas Kock กรรมการผู้จัดการที่ Scheuch Asia ซึ่งพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมให้ความเห็น
“ โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาไม่ลงทุนเพราะไม่มีแรงกดดันจากภาครัฐมากพอ ” Kock กล่าว เขากำลังพยายามที่จะขยายอุตสาหกรรมในเอเชียด้วยการใช้เทคโนโลยีลดมลภาวะ
เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จำเป็นต้องสร้างโครงข่ายคมนาคมสาธารณะที่ครอบคลุมและผลักดันให้พลเมืองใช้บริการให้มากที่สุด ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมทั้งการใช้พาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจักรยานด้วย Tsering กล่าว
นี่เป็นเป้าหมายสำคัญของ Mobike แอปพลิเคชันแชร์จักรยานบนสมาร์ทโฟนที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถหาจักรยานและปลดล็อกด้วยการสแกน QR โค้ด
“ ในกรุงเทพฯ เราดำเนินการในสองโลเคชั่นและหวังว่าจะขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นภายใน 2 – 3 เดือนนี้” แซม ณัฐพงศ์ ตัวแทนบริษัท Mobike ซึ่งมีฐานในจีนกล่าวกับสื่อรอยเตอร์.