SARAMANDA รองเท้าแบรนด์ไทยคุณภาพระดับโลก
พื้นฐานของชีวิตแต่ละคนย่อมมีที่มาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการเก็บเกี่ยวนำประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้การดำเนินชีวิต หรือต่อยอดนำมาเป็นธุรกิจ เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง
กชกร เกียรติสมมารถ กรรมการผู้จัดการบริษัท บี เอส เอ็น ฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าสมาร์ทชูส์ภายใต้แบรนด์ “ ซาราแมนด้า ” (saramanda) คือผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่ใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถที่สะสมมาตลอดชีวิตแปรเปลี่ยนให้เป็นโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม
เดินตามรอยพ่อ
กชกร เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นช่างรองเท้า ทำให้มีโอกาสได้ซึมซับทุกกระบวนการในการทำรองเท้ามาตั้งแต่เด็กจนเรียกว่าฝังอยู่ใน DNA ส่วนลึกของสายเลือดเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ในช่วงชีวิตวัยรุ่นยังได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ที่ประเทศอังกฤษ ทำให้ได้เห็นรองเท้าหนังจากหลากหลายแบรนด์ที่ถูกผลิตออกมาจำหน่าย โดยบางคู่รูปทรงภายนอกดูสวยงามน่าจับต้อง แต่เวลาสวมใส่กลับไม่สบายเท้า ขณะที่บางคู่ถูกออกแบบมาด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่ทันสมัย ดูเทอะทะแต่กับสวมใส่สบายเท้า
จากสายเลือดของช่างรองเท้าผสมผสานกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโลกภายนอก จึงเปรียบเสมือนเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยค้นหาแนวทางในการทำธุรกิจ และสิ่งที่เหมาะสมกับผู้บริโภคคนไทยมากที่สุด เมื่อแนวคิดและไอเดียถูกหลอกหลอมเข้าด้วยกันจนเข้มข้น กชกรจึงตัดสินใจผลิตรองเท้าในแบรนด์ของตนเองภายใต้แบรนด์ saramanda ในที่สุด โดยอาศัยความได้เปรียบที่สำคัญของการเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศมาเป็นพื้นฐานของธุรกิจ โดยมีบริษัท บาชินี่ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ให้การสนับสนุน
“ ความโชคดีของตนอีกรูปแบบหนึ่งในการทำธุรกิจก็คือ การได้รับใบอนุญาตในการผลิตรองเท้า หรือไลน์เซ่นแบรนด์รองเท้าจากประเทศออสเตรเลีย ขณะที่บริษัทแม่เองก็สนับสนุนให้มีการผลิตรองเท้าเพื่อนำมาแยกจำหน่ายในประเทศให้กับลูกค้าทั่วไป saramanda จึงก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และขยายธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน ”
อย่างไรก็ดี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขยายธุรกิจของบริษัท เนื่องจากต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนมากในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้เอสเอ็มอีแบงก์ยังมีส่วนช่วยในการให้ความรู้ และแนะนำวิธีการทำตลาดที่มีศักยภาพ
มาตรฐานโลกสู่คนไทย
สำหรับจุดเด่นของ saramanda นั้น กชกร บอกว่า อยู่ที่คุณภาพในการผลิตรองเท้าที่ได้มาตรฐานระดับโลก และการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงจนเกินไป จากข้อได้เปรียบเรื่องของการมีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง และวัตถุดิบที่ได้จากบริษัทแม่ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์รองเท้าที่ทันสมัยเหมาะสมกับสภาพการสวมใส่ และรูปทรงเท้าของคนไทย โดยมีให้เลือกทั้งแบบของสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรี
ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักของ saramanda คือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปทั้งเพศชาย และเพศหญิง แต่จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มของผู้หญิงมากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมการเลือกซื้อรองเท้าที่ค่อนข้างถี่กว่าของผู้ชาย อีกทั้งยังสามารถผสมผสานลูกเล่นของสีและลวดลายต่างๆบนรองเท้าได้มากกว่าของผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกสวมใส่อยู่แค่เพียงไม่กี่สี เช่น สีดำ และสีเทา เป็นต้น
“ เท่าที่เราสำรวจการขายจากหน้าร้านต่างๆ ของบริษัทที่เปิดอยู่จะพบว่ากลุ่มของผู้หญิงจะมีการเลือกซื้อสินค้ามากกว่าผู้ชาย โดยในแต่วันลูกค้าที่เป็นผู้ชายอาจจะมีเข้ามาซื้อเพียงแค่ 5 คู่ แต่ผู้หญิงจะเข้ามาซื้อ 20 คู่ เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ชื่นชอบการแต่งตัว และมีพฤติกรรมในการซื้อของตามแฟชั่นมากกว่าผู้ชาย ”
อย่างไรก็ตาม กว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้น กรกชบอกว่าได้ผ่านขั้นตอนของการลองผิดลองถูกมาแล้วมากมาย ยกตัวอย่างเช่นในช่วงแรกตอนที่เลือกแบบรองเท้ามาจำหน่าย ด้วยความที่ตั้งใจจะจำหน่ายให้กับผู้สูงอายุเป็นหลัก แบบที่นำมาจำหน่ายจึงออกแนวทึมๆ ไม่มีสีสัน โดยสามารถขายได้แต่ยอดขายไม่ค่อยวิ่ง อีกทั้งลูกค้าคนหนึ่งซื้อไปแล้ว 1 คู่ กว่าจะเปลี่ยนคู่ใหม่ก็ใช้ระยะเวลาที่นาน ดังนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้เด็กลง และมีการเพิ่มสีสันให้กับรองเท้า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
ชูกลยุทธ์ออนไลน์เจ้ากลุ่มลูกค้า
กชกร กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ในการทำตลาดหลักในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดผ่านช่องทางของเฟสบุ๊ก (Facebook) อินสตราแกรม (Instagram) เว็บไซด์ที่ได้รับความนิยมต่างๆ เนื่องจากมองว่าเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด จากพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนที่ใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้อีกด้วย โดยจะแตกต่างจากการทำตลาดรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นการโฆษณาผ่านทางแม็กกาซีน ซึ่งไม่ค่อยตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ปัจจุบัน saramanda มีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเดอะมอลล์ โรบินสัน และหน้าร้านที่เป็นของ BSN Factory Outlet เป็นต้น โดยในแต่ละเดือนจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านบาทจากทุกช่องทางการจำหน่ายต่างๆ ของบริษัท
ขณะที่เป้าหมายในระยะถัดไปนั้น กชกร บอกอย่างน่าสนใจว่า มีแผนที่จะขยายตลาดไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศ โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของตลาดสามารถจับต้องได้ และคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ.