ธ.ก.ส.หนุนปลูกป่าค้าเครดิตคาร์บอน
ธ.ก.ส.เดินหน้าหนุนคนไทยปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า ตั้งเป้า 10 ปี มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น3 แสนไร่ หรือกว่า 137 ล้านต้น พร้อมสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนส่งขายต่างประเทศ ใช้เครดิตคาร์บอนแก้ปมภาวะเรือนกระจกและช่วยลดโลกร้อน เผยปลูกไม้มีค่าจัดเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากสุด
ปรากฏการณ์ร่วมด้วยช่วยกัน “ลดโลกร้อน” กลายเป็น “กระแสโลก” ที่รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของหลายประเทศทั่วโลก ต่างกำหนดไว้เป็นแผนงานหลักอันดับต้นๆ เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น เช่นกันการปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นหนึ่งในแผนงานดังกล่าว และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “เครดิตคาร์บอน” ซึ่งก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM : Clean Development Mechanism) โดยได้รับการนำมาใช้เป็นกลไก เพื่อให้ประเทศที่พัฒนา แต่ยังประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซ สามารถซื้อโควตาคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการพัฒนาที่สะอาดที่เรียกว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก
ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินนโยบายยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า โดยมุ่งหวังจะเพิ่มพื้นที่ป่าราว 3 แสนไร่ โดยนายศรายุุุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและของชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลดความยากจน และเพิ่มพื้นที่ป่า นำสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้
โดยขณะะนี้ มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯแล้ว 6,852 ชุมชน และปลูกต้นไม้เพิ่มในประเทศมากกว่า 11.8 ล้านต้น นับเป็นการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าในปี 62 รวม 1,000 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 50 คน และปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างน้อยชุมชนละ 20,000 ต้น รวมถึงขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั้งนี้ คาดกว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในไทยไม่ต่ำกว่า 137 ล้านต้น หรือ 3 แสนไร่
“จากที่ได้สร้างผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ โดย ธ.ก.ส. ร่วมกับกรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการและสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้ ราว 400 ชุมชนๆ ละ 2 คน รวม 800 คน เพื่อทำหน้าที่ประเมินมูลค่าต้นไม้ สำหรับนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำผลผลิตจากต้นไม้มาสร้างเป็นอาชีพ เช่น นำไม้ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งมาเผาถ่าน นำไม้ที่ครบอายุมาทำเฟอร์นิเจอร์ การแปรรูปพืชสมุนไพร เป็นต้น เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ในรูปวิสาหกิจชุมชนให้คนในชุมชนธนาคารต้นไม้อย่างน้อย 77 กลุ่ม”
นายศรายุทธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ให้ชุมชนในการประเมินมูลค่าการกักเก็บคาร์บอน ตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Sopport Scheme : LESS) และมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับชุมชนที่ดำเนินการตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการการันตี และแปลงมูลค่าคาร์บอน สร้างเป็นรายได้ หรือกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแ วดลอม ร่วมสนับสนุนชุมชนที่ปลูกตนไม้ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงยังสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากแนวทางการสนับสนุนข้างต้นแล้ว ธ.ก.ส.ยังได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีการออมเงิน และขยายการลงทุนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านสินเชื่อ Green Credit ซึ่งมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อ โดยใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน ทั้งนี้ ในส่วนของชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งถือเป็นชุมชนที่ดำเนินงานตามหลักการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 41 และมีการบริหารจัดการชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และการท่องเที่ยว โดยจัดทำโฮมสเตย์มาตรฐาน จนได้รับรางวัล “กินรี” เป็นแห่งแรกของ จ.เพฃรบุรี และของประเทศ
อีกทั้งยังมีกลุ่มอาชีพเพาะกล้าไม้ เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกและผู้สนใจปลูกไม้มีค่า รวมถึงยังมีสถาบันการเงินชุนชนที่ส่งเสริมการออม และให้บริการทางการเงินกับสมาชิก เช่น การจำนำต้นไม้ เพื่อนำเงินทุนไปใช้หมุนเวียน โดยยังไม่ต้องตัดต้นไม้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม้มะฮอกกานี ไม้พะยูง ไม้สัก มีอายุที่จะจำหน่ายได้ประมาณ 20 ปี เมื่อครบอายุจะมีราคา 30,000 บาทต่อต้น ถือเป็นการออมเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าการออมรูปแบบอื่น โดยต้นไม้ในโครงการต้นไม้ บ้านถ้ำเสือจะมีพิกัดใน GSP สามารถดูได้ใน Google Map ได้ทุกต้น.