เปิดความท้าทายฟื้นท่องเที่ยวไทย กลับสู่ยุครุ่งเรืองก่อนโควิดระบาด
นาน ๆ จะได้รับข่าวดีเป็นกระดี่ได้น้ำสักครั้งสำหรับคนในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังจากไม่นานมานี้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาแย้มว่า เตรียมชงศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ในเดือนเม.ย.นี้ ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) หรือระบบการแจ้งข้อมูลรายละเอียดสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยตั้งความหวังเอาไงว่า หากทุกอย่างผ่านฉลุย ก็เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ช่วยฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่นอนหยอดน้ำข้าวต้มมานานกว่า 2 ปีให้ลุกขึ้นมายืนกันต่อได้อีกครั้ง
สำหรับการเสนอให้ปลดล็อกกฎเหล็กนี้ แน่นอนว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไรมากนัก เพราะที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวพยายามผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว หรือเรียกง่าย ๆ คือ การกวักเงินเข้ากระเป๋า เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมามีรายได้ใกล้เคียงเป้าหมาย คือ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท
รูปแบบการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศครั้งนี้ หมายความว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด จะต้องกลับสู่ภาวะปกติเหมือนในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงปี 2562 โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass ทั้งประเภท Test & Go, Sandbox หรือ Quarantine
แต่จะก็มีแนวทางการควบคุมอื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น ยังมีการบังคับให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ตั้งแต่วันแรกที่เหยียบสนามบิน เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วเช่นกัน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยใยประเทศว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาแล้วจะปลอดภัยไร้โรค ไม่เอาเชื้อโรคร้านสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาแพร่กระจายติดคนในประเทศเป็นหลักหมื่นอีก
ที่สำคัญในการดำเนินการทั้งหมดนั้น ก็เพื่อรองรับการประกาศปลดล็อกให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย
ความจำเป็นของการดำเนินการครั้งนี้ ถ้ามองโดยไม่มีอคติ แน่นอนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำ เพราะคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีจำนวนมาก ทั้งที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง หรือทางอ้อม ไล่ตั้งแต่พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ร้านค้า ร้านอาหาร ภาคเกษตร รวมไปถึงคนขับรถโดยสารต่าง ๆ รวม ๆ แล้วน่าจะเกิน 20 ล้านคน แต่อย่างไรก็ดีการตัดสินใจด้วยการใส่เกียร์ห้าทำทั้งหมดในทันทีนั้น ก็ต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสมประกอบกันไปด้วย
มีข้อมูลที่น่าสนใจของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) มาประกอบสำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับภาคของการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่เร่งทำอะไรเลย ธุรกิจมากมายที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะบรรดาเอสเอ็มอี อาจต้องล้มหายตายจากไปจากระบบอีกจำนวนไม่น้อย
ข้อมูลชุดนี้รายงานถึงเสียงของเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยวว่า ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แม้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการและแรงงานกลุ่มนี้ ยังเห็นว่าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผลกระทบที่ได้รับ
ดังนั้น การสนับสนุนด้านการเงิน การส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในธุรกิจท่องเที่ยว จึงเป็นแนวทางที่สำคัญให้เกิดการจ้างงาน และประคับประคอง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินการต่อไปได้
ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ และบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ยังร่วมทำการสำรวจการปรับตัวของแรงงานและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาคการท่องเที่ยว โดยสำรวจผู้ประกอบการและแรงงานในสถานประกอบการเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยวที่ยังเปิดกิจการอยู่ใน 5 ประเภท คือ ที่พักแรม การบริการอาหาร ขนส่งทางบก ท่องเที่ยว และขายของที่ระลึก ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พบข้อมูลน่าสนใจดังนี้
รายได้ผู้ประกอบการที่ลดลงในช่วงโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและการมีหนี้สิ้นที่เพิ่มขึ้น โดยผลการสำรวจ พบว่า รายได้ของผู้ประกอบการลดลงในทุกประเภทธุรกิจ โดยในปี 2564 มีรายได้ลดลงมากกว่าปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด
โดยเฉพาะในกลุ่มที่พักแรม ท่องเที่ยว และบริการอาหาร มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ภาคการท่องเที่ยวมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้ง 1 ใน 4 ของผู้ประกอบการ สามารถรับมือได้อีกไม่เกิน 6 เดือน!!
ทั้งนี้มีสาเหตุโดยตรงมาจากการที่รายได้ลดลง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการที่เป็นหนี้ในปี 2564 เพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 10% อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนหนี้สินปีต่อปี พบว่า ในปี 2563 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท่องเที่ยวมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 33.4% จากปีก่อน
ขณะที่ 39.9% ระบุว่าปี 2564 มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2563 ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ พบว่า ในปี 2562 ส่วนใหญ่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดในปี 2563 สัดส่วนผู้ที่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติลดลงเหลือ 71.3% และลดลงอีกเป็น 63.3% เท่านั้น ในปี 2564
ที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจคือในจำนวนนี้มีอยู่กว่า 10.3% ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้เลยในช่วงปัจจุบัน
หากแยกมาดูเป็นขนาดและประเภทธุรกิจ ยังพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดกลาง จะประสบปัญหาสภาพคล่องและมีภาระหนี้สิ้น มากกว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อย โดยธุรกิจประเภทการบริการอาหารประสบปัญหามากที่สุด รองลงมาคือ ธุรกิจท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก ที่พักแรม และขนส่งทางบก นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการรายย่อยมีแนวโน้มหันไปพึ่งหนี้นอกระบบสูงกว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขนาดเล็กและขนาดกลาง อีกด้วย
อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ฯ มีความเห็นว่า แม้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่ยังมีธุรกิจที่มีความเข้มแข็งสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ หลังยังมีผู้ประกอบการบางส่วนยังเปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญคือ รากฐานการเงิน การปรับแผนทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการไม่พึ่งพิงกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียว รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์สามารถปรับตัวให้ทันต่อการณ์เปลี่ยนแปลง
แต่อย่างไรก็ตามจากปัญหาสภาพคล่องส่งผลให้ความสามารถในการจ่ายหนี้ต่ำลง ทำให้ธุรกิจเองไม่แน่ใจว่าจะรับมือได้นานเพียงใด ขณะที่แรงงานปรับตัวโดยการลดรายจ่าย การหารายได้เพิ่มหรืออาชีพเสริมยังมีไม่มากนัก
ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำต่อไป และเกิดการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีมาตรการ ดังนี้
1. การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแรงงาน โดยเน้นให้ผู้ประกอบการและแรงงานสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้ ทั้ง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูกิจการ การลดหรือยกเว้นภาษี รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาเป็นกรณีพิเศษสำหรับแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
2. การส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวตามช่วงฤดูกาล ที่เน้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก สนับสนุนการท่องเที่ยวเป็นพิเศษให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จัดทำแพ็คเกจการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ที่เน้นสำหรับเอสเอ็มอี
3. การส่งเสริมทักษะและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว โดยพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตเสรีให้มีความครอบคลุมและทั่วถึง สนับสนุนการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของผู้ประกอบการและแรงงาน เช่น การบริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง การใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการธุรกิจ ตลอดจนทักษะด้านภาษาต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนและฝึกอบรมทักษะแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวะศึกษาที่อยู่ให้เอสเอ็มอี จำนวนมาก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ให้ทันต่อการพัฒนา