กนอ. จับมือ พพ. และสถาบันการเงิน พร้อมรับเทรนด์โลกใหม่ ‘พลังงานสะอาด-ลดก๊าซเรือนกระจก’
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประกาศเจตนารมณ์ร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน รวมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือสนับสนุนทางการเงิน (Financial support) ร่วมกับ สถาบันการเงิน 5 แห่ง ตั้งเป้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กนอ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ของ กนอ. ปีงบประมาณ 2565 โดยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการลงนามครั้งนี้
กนอ. ประกาศนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระยะแรกตั้งเป้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง 15 แห่ง จำนวน 1,505 โรงงาน ให้ตระหนักถึงความจําเป็นในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) โดย กนอ. มีนโยบายในการขับเคลื่อนแผนงานและกิจกรรมเพื่อการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การจัดการฐานข้อมูล การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน รวมถึงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ โดยการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ กนอ. และ พพ. จะร่วมกันดำเนินงานภายใต้กรอบความเข้าใจใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน ด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาบุคลากร ระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แผนงาน/กิจกรรม ภายในระยะเวลา 3 ปี (2565 – 2567)
“การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก เกิดการผลักดันให้มีการดำเนินการตามกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน มีการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะเกิดการประหยัดพลังงานสะสมได้กว่า 640 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2567 คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้กว่า 2,560 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3.4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์”นายวีริศ กล่าว
ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ พพ.คือ การกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการบริหารจัดการพลังงานเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการใช้ได้อย่างเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้มีเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันด้านการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน โดย พพ.พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน การนำมาตรฐาน BEC ไปใช้ในอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงในพื้นที่ กนอ. และกำกับให้โรงงานและอาคารในสังกัด
กนอ. ปฏิบัติตามกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน โดยการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีแผนงานส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า เป้าหมายไม่น้อยกว่า 150 เมกกะวัตต์ และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพิ่มความเชี่ยวชาญกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนได้ไม่น้อยกว่า 1,100 คน พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน และการสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ และส่งเสริมการดาเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
“แผนการดำเนินงานทั้งหมดมีเป้าหมายดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยคาดว่าจะเกิดการประหยัดพลังงานสะสม ณ ปี 67 กว่า 640 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 2,500 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3.4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซต์ และก่อให้เกิดความสำเร็จด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป”นายประเสริฐ กล่าว
นายวีริศ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากการลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แล้ว ยังมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนทางการเงิน (Financial support) เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน และการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. กับ สถาบันการเงิน 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทั้งนี้ กนอ. จะร่วมมือกับธนาคารเครือข่ายทั้ง 4 แห่ง ในด้านการส่งเสริมสนับสนุนมาตรการทางการเงิน (Financial support) แก่ผู้ประกอบการ และร่วมมือกับ บสย. พิจารณาการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการดำเนินงานสอดคล้องตามกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.
“ต้นทุนของการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานประเภทนี้มากขึ้น อีกทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทำสัญญาซื้อขายพลังงานในรูปแบบใหม่ ทุกฝ่ายจึงควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2573 รวมถึงตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย