บัตรเลือกตั้งสองใบ พรรคใหญ่ได้เปรียบ-พรรคปัดเศษสูญพันธุ์
กฎหมายลูก 2 ฉบับ-ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภาตามความคาดหมาย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวลือ-ข่าวลวงจาก “ผู้มีอำนาจ” ว่าจะขอเสียงพรรคร่วมรัฐบาล-เสียง ส.ว.คว่ำกฎหมายลูก 2 ฉบับ เพื่อ “ยูเทิร์น” กลับไปใช้กติกาการเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” ของรัฐธรรมนูญฉบับ 60
ตามที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐเคยทิ้ง “วลีเด็ด” ไว้ว่า “รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา” โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลง “กติกาเลือกตั้ง” ครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ จาก “บัตรใบเดียว” เป็น “บัตรสองใบ” และกำหนดส.ส.เขต ให้มีจำนวน 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน 100 คน
นอกจากจะเพิ่มจำนวนเก้าอี้ ส.ส.เขต จาก 350 ที่นั่ง เป็น 400 ที่นั่งแล้ว จะเป็นการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็น บัตรเลือกตั้งสองใบ “เลือกใครที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ”แล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนระบบการ “นับคะแนน” จากการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เป็นการคำนวณแบบ “คะแนนขั้นต่ำ” เป็นการนำคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของทุกพรรคการเมืองทั่วประเทศมารวมกัน และหารด้วย 100 เพื่อคำนวณ “คะแนนเฉลี่ย” ต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ขั้นตอนต่อไปให้นำคะแนนจากการเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วย “คะแนนเฉลี่ย” ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน จนครบ 100 คน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านความเป็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีถึง 4 ฉบับ แต่ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะใช้เป็น “ร่างหลัก” โดยกำหนดวิธีการคำนวณสัดส่วนคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไว้ใน มาตรา 30 ดังนี้
1.รวมผลคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของทุกพรรคการเมืองที่ได้รับจากการเลือกตั้ง
2.ให้นำคะแนนรวมทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับนำมาหารด้วย 100 เพื่อหา “คะแนนเฉลี่ย” ต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน
3.ให้นำคะแนนรวมของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้นๆ หารด้วยคะแนนเฉลี่ย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็น “จำนวนเต็ม” ซึ่งก็คือ จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
4.กรณี คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครบทุกพรรคการเมืองแล้ว มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มี “เศษมากที่สุด” ได้รับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นอีก 1 คน โดยเรียงตามลำดับจนกว่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครบ 100 คน
ทั้งนี้ หากมีพรรคการเมืองมี “คะแนนเท่ากัน” ให้ “จับสลาก” คนการเมือง “ฟันธง” ว่า กติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบ “พรรคใหญ่ได้เปรียบ” ทั้งพรรคพลังประชารัฐ-พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย ย้อนกลับไปเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นการแข่งขันกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคไทยรักไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคไทยรักไทย ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น สามารถชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว จำนวน 376 ที่นั่ง เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ เป็นที่มาของคำว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะชนะ “แลนด์สไลด์”
ขณะที่พรรคก้าวไกล หรือ พรรคอนาคตใหม่เดิม ที่ได้รับประโยชน์จากกติกาการเลือกตั้งบัตรใบเดียว-การคำนวณคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสมมากที่สุด จนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสามารถเกณฑ์ “พลพรรคสีส้ม” เข้าสภาได้ถึง 81 ที่นั่ง
การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกล อาจจะได้เก้าอี้ ส.ส.ไม่เท่าการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะโหวตเตอร์เป็น “ฐานเสียงเดียวกัน” กับพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคการเมือง 1 เสียง ที่เคยได้รับอานิสงส์จาก “คะแนนไม่ตกน้ำ” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็น “พรรคปัดเศษ” จะ “สูญพันธุ์” เพราะวิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คิดจาก “คะแนนเฉลี่ย” ซึ่งเป็น “คะแนนขั้นต่ำ” ที่พรรคการเมืองต้องมี ส่งผลให้ “พรรคปัดเศษ” นำโดย “นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากได้รับผลกระทบ-มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็น บัตรสองใบ
ขณะเดียวกัน “พรรคปัดเศษ” ต้องไปสู้ในการพิจารณาร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ในชั้นกรรมาธิการ-แปรญัตติ เพื่อ “ลุ้นรอบสอง” ให้แก่พรรคการเมืองที่ “ไม่ผ่านเกณฑ์” คะแนนเฉลี่ยในการคำนวณรอบแรก เพราะไม่มี “คะแนนเต็ม” แต่มี “เศษมากที่สุด” กติกาการเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” เดินหน้าเต็มสูบ-โค้งสุดท้าย นับถอยหลังสภาครบวาระ นักเลือกตั้งเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าทันทีที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง