แรงงานเยอรมันทำงาน 28 ช.ม./สัปดาห์
สหภาพแรงงาน Metall LG สามารถปิดดีลการเจรจาที่มีมาก่อนหน้านี้ลงได้ โดยสามารถช่วยให้สมาขิกสหภาพ 2.3 ล้านคนมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นและได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น
จากปี 2562 เป็นต้นไป แรงงานจำนวนมากในบริษัทวิศวกรรมชั้นนำของเยอรมนี เช่น เดมเลอร์ซึ่งเป็นเจ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จะสามารถทำงาน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะกลับไปทำงานตามเวลามาตรฐานเดิมคือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
โดยดีลนี้เป็นการเจรจากับตัวแทนมากกว่า 700 บริษัททางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี และคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบเป็นระลอกไปทั่วอุตสาหกรรมเยอรมัน
“นี่เป็นมาตรฐานสำหรับคนอื่นๆ ทุกคน” Megan Greene หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Manulife Asset Management ให้ความเห็น
โดยทางสหภาพ Metall LG ระบุว่า ความยืดหยุ่นในการทำงานจะช่วยพนักงานที่ต้องการดูแลลูก หรือญาติพี่น้อง ค่าจ้างจะลดลงเพื่อสะท้อนการทำงานต่อสัปดาห์ที่น้อยลง ดีลการเจรจานี้เอื้อให้แรงงานสามารถเลือกที่จะทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น
แรงงานเยอรมันได้เปรียบจากอัตราการว่างงานที่ต่ำและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่ทำให้สามารถปรับชั่วโมงการทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งขึ้น
“คุณคาดหวังได้เลยว่า จะมีดีลที่เหมือนกันตามมาอีกจากในภาคส่วนและภูมิภาคอื่นเร็ววันนี้” Famke Krumbmüller หุ้นส่วนของ Opencitiz ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองให้ความเห็น
ทั้งนี้ แรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพก็จะได้ประโยชน์จากการทำข้อตกลงนี้เช่นกัน เนื่องจากบริษัทที่จ้างแรงงานของ IG Metall เสนอเงื่อนไขเดียวกันให้กับแรงงานในวงกว้าง
Daimler ระบุว่า จะเสนอชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นแบบใหม่นี้กับพนักงานทุกคนในปี 2562 แต่ชี้ว่าบริษัทได้เสนอทางเลือกในการทำงานให้พนักงานมากมายอยู่แล้ว
บริษัท Bosch ซึ่งจ้างงาน 138,000 คนในเยอรมนี ระบุว่า จะเสนอการทำงานและค่าจ้างที่ปรับขึ้นเหมือนกันและเสริมว่าชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบในด้านลบ โดย Simon Schmitt โฆษกของ Bosch กล่าวว่า “บริษัทมีประมาณ 100 รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันเพื่อให้พนักงานมีชีวิตการทำงานที่สมดุล”
แต่บริษัทอื่นๆอาจรู้สึกยากที่จะปฏิบัติตาม โดย Südwestmetall ระบุว่า เป็นการประนีประนอมกับองค์ประกอบที่เจ็บปวดและเป็นเรื่องยากที่จะรับมือสำหรับหลายบริษัท
Volker Steinmaier โฆษกของ Südwestmetall แถลงว่า การทำงานที่น้อยลงในสัปดาห์อาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานได้ อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการทำงานมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น
“หลายบริษัทให้ทางเลือกกับพนักงานว่าจะทำงาน 30 , 35 และ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่ พนักงานเลือกที่จะทำงานนานขึ้นและได้เงินมากขึ้น”
สหภาพระบุว่า สมาชิกจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 4.3% เริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีนี้ ซึ่งจะเท่ากับการปรับขึ้นประมาณ 3.5% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี อ้างอิงจากข้อมูลของ Florian Hense นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคาร Berenberg
“นี่เป็นเรื่องดีสำหรับคนทำงาน พวกเขาจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินเฟ้อ นี่จะช่วยให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น”.