ผู้ก่อตั้งอูเบอร์ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีหลังขายหุ้น
นายทราวิส คาลานิก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอูเบอร์จะกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านอย่างเป็นทางการ หลังจากนักลงทุนเข้าซืัอหุ้นใหญ่ในบริษัท
โดยกลุ่มนักลงทุนยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่างซอฟต์แบงก์ตกลงที่จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทอูเบอร์จากผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน รวมถึงหุ้นอูเบอร์ใหม่ด้วยดีลที่มีมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 256,560 ล้านบาท
มีการรายงานอย่างกว้างขวางว่า นายคาลานิก ซึ่งลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในเดือนมิ.ย.ปี 2560 ขายหุ้นของเขาที่มีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 44,898 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา เขาขึ้นชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีแต่ในกระดาษ แต่ดีลนี้ทำให้ความร่ำรวยของเขาเป็นเรื่องที่มั่นคง
ทั้งนี้ แม้เขาจะถูกบอร์ดบริหารบีบให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากข่าวฉาวที่มีอย่างต่อเนื่องของบริษัท แต่ความสัมพันธ์ของเขากับอูเบอร์ยังคงแข็งแกร่ง เขายังคงเป็นผู้บริหารคนหนึ่งในบริษัท และได้ขายหุ้นของเขาออกไปน้อยกว่า 1 ใน 3 จากที่ถือครองอยู่ ซึ่งหมายความว่าเขายังคงมีหุ้นในครอบครองในปัจจุบันอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยดีลการซื้อมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของทางซอฟต์แบงก์ในครั้งนี้ จะทำให้ซอฟต์แบงก์มีหุ้น 17% ในอูเบอร์ จากจำนวน 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นการลงทุนเงินสดในหุ้นใหม่ประมาณ 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนที่เหลือเป็นของนักลงทุนในอูเบอร์
อูเบอร์อธิบายดีลนี้ว่า “เป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ถือหุ้นของเรา พนักงานและลูกค้าของเรา การบริหารของอูเบอร์จะแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากเราลงทุน 2 เท่าในด้านเทคโนโลยี และยังคงมุ่งเน้นนำบริการไปสู่ประชาชนจำนวนมากขึ้น ในสถานที่มากขึ้นในโลก”
ขณะที่ทางซอฟต์แบงก์ ซึ่งกลายเป็นนักลงทุนของอูเบอร์ ระบุว่า มีความยินดีมากกับดีลการทำข้อตกลงนี้ และเฝ้ารอคอยที่จะช่วยผลักดันให้อูเบอร์กลายเป็นความสำเร็จระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอีก“อูเบอร์มีอนาคตที่สดในมากภายใต้การบริหารของคณะทำงานใหม่” ราจีฟ มิสรา ผู้บริหารซอฟต์แบงก์ กล่าว
ในส่วนหนึ่งของดีล บอร์ดบริหารของอูเบอร์จะขยายเพิ่มจำนวนจาก 11 คนเป็น 17 คน โดยผู้บริหารจากซอฟต์แบงก์จะได้ 2 ที่นั่ง ขณะที่กลุ่ม Dragoneer จากซานฟรานซิสโกเป็นอีกหนึ่งนักลงทุนรายสำคัญ
การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญมีขึ้นหลังจากอูเบอร์ต้องเผชิญกับปีที่ยากลำบาก จากข่าวฉาวเรื่องการคุกคามทางเพศทั้งในองค์กรและจากคนขับที่มีต่อลูกค้า การถูกสอบสวนจากเจ้าหน้าที่และคดีความเกี่ยวกับการขโมยเทคโนโลยี นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ซอฟต์แบงก์มีการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่ให้บริการรถร่วมโดยสารที่ซอฟต์แบงก์เข้าไปลงทุนคือบริษัทติตี้ ฉูชิ่งในจีน และ Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.