สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.84%
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.84%
กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีต่อเนื่อง เผยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 101.38 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 จากเดือนก่อนหน้า ดันดัชนี 11 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ร้อยละ 65.81 ส่งสัญญาณดีขึ้น หลังสถานการณ์โรคโควิด -19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าไทย ประกอบกับการบริโภคสินค้าทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ และภาคการผลิตทั่วโลกมีการขยายตัวช่วยสนับสนุนคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจากการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศเพิ่มเติม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นผลดีต่อกำลังซื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 101.38 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และปรับขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 โดย 11 เดือนแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84 เติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 65.81 ส่วน 11 เดือนแรกอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.50 ส่งสัญญาณดีขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์การติดเชื้อของ โรคโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการเดือนพฤศจิกายน ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
การที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมขยายตัว รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสินค้าที่สามารถใช้เป็นของฝากมีการขยายตัวดี อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงการส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 23.13 มูลค่า 18,787.30 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัวร้อยละ 20.82 มูลค่า 18,147.70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ด้านการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 11.03 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 39.30 ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.88 จากกลุ่มน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้มีการเดินทางขนส่งและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มากกว่าปีก่อน
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.16 ตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดย WSTS (World Semiconductor Trade Statistics) คาดการณ์ยอดขายทั่วโลกปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 25.60 และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 8.80 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี
เม็ดพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.00 จากกลุ่ม Polyethylene resin, Polypropylene resin, Ethylene, Propylene และ Benzene เป็นหลัก เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่อง รวมถึงการทำ Turn Around ของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน
น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.92 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นปาล์มมีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยปีก่อนแหล่งเพาะปลูกภาคใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลงและมีราคาสูงขึ้น
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.88 ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และต้องรายงานต่อ อย. ทุก 15 วัน