ญี่ปุ่นรั้งท้ายดึงดูดต่างชาติทำงาน
นับเป็นข่าวร้ายสำหรับญี่ปุ่นที่ต้องการรับแรงงานต่างชาติเพื่อทดแทนแรงงานวัยทำงานในประเทศให้สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลก เนื่องจากญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนประชากรวัยทำงานหดตัว
โดยญี่ปุ่นรั้งท้ายอยู่ใน 11 ประเทศในเอเชีย จากความดึงดูดใจพนักงานต่างชาติทักษะสูง อันดับต่ำกว่าอินโดนีเซีย ประเทศไทยและมาเลเซีย อ้างอิงจาก 2017 IMD World Talent Ranking ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกันในระดับโลก ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 51 จากทั้งหมด 63 ประเทศ โดยสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ในเอเชียและฮ่องกงอยู่อันดับ 2
เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นในการดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถจากนอกประเทศ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เปิดกว้างรับแรงงานต่างชาติทักษะสูง โดยยื่นข้อเสนอให้คนที่พบกับกฎระเบียบที่ยุ่งยากว่าจะเป็นหนทางที่เร็วที่สุดในการยื่นขอสถานะเป็นพลเมืองถาวรของประเทศ นับเป็นท่าทีที่ทุ่มเทให้อย่างมากสำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความระมัดระวังเคร่งครัดเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง
แต่การปิดกั้นเรื่องภาษาและระบบธุรกิจที่เข้มงวดถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการจ้างงานพนักงานต่างชาติทักษะสูงในญี่ปุ่น
ผลสำรวจของ IMD ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของญี่ปุ่นที่จะคงศักยภาพในการพัฒนาทางเทคโนโลยีไว้ดังเดิม ขณะที่ต้องรับมือกับจำนวนแรงงานที่หดตัว โจเซ คาบัลเลโร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำ IMD World Competitiveness Center กล่าว
โดยเขากล่าวว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำงานขับเคลื่อนมากขึ้นเพื่อให้มีกระแสแรงงานต่างชาติที่มีประสิทธิภาพหลั่งไหลเข้ามาในอนาคต
“ ในระยะสั้น นี่ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยเฉพาะกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนแรงงานที่มีอยู่ในประเทศจะเพียงพอที่จะช่วยญี่ปุ่นพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างที่ต้องการหรือไม่ ? ”
การจัดอันดับของ IMD ด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำหรับญี่ปุ่น หากจะแข่งขันกับจีนและสหรัฐฯ ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลกในความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล อ้างอิงจากผลสำรวจของ IMD ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปีนี้ และอยู่เกือบรั้งท้ายสำหรับประสิทธิภาพการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจด้านธุรกิจ
สถานการณ์อาจจะแย่กว่านี้สำหรับญี่ปุ่น โดยประเทศนี้ประสบกับการขาดแคลนแรงงานด้านไอที – ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่
(Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) – คาดการณ์ว่าจะขาดแคลนประมาณ 48,000 คนภายในปี 2563 และจะขาดแคลนแรงงานด้านความปลอดภัยทางไอทีเกือบ 200,000 คน รัฐมนตรีเศรษฐกิจระบุในรายงานเมื่อปีที่แล้ว
โดยรายงานของ IMD เป็นการรวบรวมจากผลสำรวจผู้บริหารระดับสูงทั้งญี่ปุ่นและต่างชาติ ด้วยประสบการณ์การทำงานในประเทศ คาบัลเลโรกล่าว
‘ ทักษะสูง ’ เป็นคำนิยามแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีทักษะที่กว้างขวาง จากภาคการเงินไปจนถึงประสบการณ์ในต่างประเทศ จนถึงทักษะด้านภาษา.