“ประยุทธ์” มือในสภาอุ่นหนา มือนอกสภาร่อยหรอ
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สร้างความแตกแยกไปทุกหมู่เหล่า ประชาชน แพทย์ หมอ พยาบาล และ พรรคการเมือง (ฝ่ายค้าน) มีเพียงพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่ยังเหนียว-แน่น-ปึก
ประชาชน-แวดวงเซเลบและศิลปิน-ดารา ออกมชุมนุม-Call out การแก้ไข-บริหารโควิดที่ผิดพลาด-ล้าช้า เป็นกระจกส่องไปถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กลายเป็นฟืนที่เติมลงในกองไฟ ที่มีชนวน-เชื้อการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร2563” ที่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก พ่วงด้วยข้อเสนอ “ทะลุฟ้า”
โดยที่มีพันธมิตร-แนวร่วมจากกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มี “ตู่-เต้น” จตุพร พรหมพันธ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น “ตัวชูโรง” และ “แนวร่วมมุมกลับ” อย่าง “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ อดีตแกนนำเสื้อเหลือง-กปปส. ที่ “ยื่นคำขาด” ให้พล.อ.ประยุทธ์ “เสียสละ” ลาออก จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สนธิกำลัง “สมบัติทัวร์” สมบัติ บุญงามอนงค์ “บก.ลายจุด” กับปฏิบัติการ “คาร์ม็อบ” ดึงคนชั้นกลาง-มนุษย์นักธุรกิจ “ลงถนน”
ขณะเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์” ยัง “ผลักมิตรให้กลายเป็นศัตรู” ออกกฎหมายปิดปากประชาชน-ปิดปากสื่อ จนกองหนุน-กองเชียร์ที่เคย “ถือหาง” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ “ยกแขนไม่สุด”
แม้จำนวนเสียง-มือนอกสภาจะร่อยหรอ แต่จำนวนเสียง-จำนวนมือในสภาที่ยัง “ถือหาง” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กลับอุ่นหนาฝาคั่ง “เหนือน้ำ” เพราะ “ผลประโยชน์ลงตัว”
ปัจจุบันพรรครัฐบาล 18 พรรค 271 “บวกบวก” เสียง พรรคพลังประชารัฐ 120 เสียง ( 2 เสียงหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)
พรรคภูมิใจไทย 61 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 48 เสียง (3 เสียงหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร)
ชาติไทยพัฒนาของ “วราวุธ ศิลปอาชา” 12 เสียง “พรรคสุเทพ” รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไทของ “ชัชเตาปูน” ชัชวาลล์ คงอุดม 5 เสียง “พรรคสุวัจน์” ชาติพัฒนาของ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” 4 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ของ “มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์” 5 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยของ “ดำรง พิเดช” 2 เสียง
พรรคเล็ก 9 เสียง ได้แก่ พรรคพลังชาติไทยของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ 1 เสียง พรรคประชาภิวัฒน์ของนางนันทนา สงฆ์ประชา 1 เสียง พรรคพรรคไทยรักไทยของนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล 1 เสียง
พรรคครูไทยเพื่อประชาชนของนายปรีดา บุญเพลิง 1 เสียง พรรคพลเมืองไทยของ “สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์” 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ของ “สุรทิน พิจารณ์” 1 เสียง
พรรคพลังธรรมใหม่ของ “หมอระวี มาศฉมาดล” 1 เสียง พรรคประชาธรรมไทยของ “พิเชษฐ สถิรชาล” 1 เสียง พรรคไทรักธรรมของนายพีระวิทย์ เรืองลือดลภาค 1 เสียง
ยังไม่นับ “ส.ส.ฝากเลี้ยง” ที่พรรคพลังประชารัฐ ไปตกปลา-วางไข่ไว้ในบ่อเพื่อน
ขณะที่พันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค 213 “ลบลบ” เสียง โดยพรรคเพื่อไทย 134 เสียง พรรคก้าวไกล 54 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง
พรรคเพื่อชาติของ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” 5 เสียง พรรคพลังปวงชนไทยของนายนิคม บุญวิเศษ 1 เสียง พรรคไทยศรีวิไลย์ของ “เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ 1 เสียง และ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง
อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้าน “ไม่เป็นเอกภาพ” เพราะมีเสียงงูเห่า-แปรพักตร์ เช่น งูเห่าเพื่อไทย 3 เสียง ได้แก่ 1.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.จังหวัดปทุมธานี 2.พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. 3.ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี
งูเห่าก้าวไกล 4 เสียง ได้แก่ 1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และ 4.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย
และงูเห่าประชาชาติ 1 เสียง คือ “อนุมัติ ซูสารอ”
มิหน้ำซ้ำและความไม่ลงรอยกัน-แย่งซีน เตะตัดขากันเองระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล เพื่อชิงเสียงมวลชน ที่เป็น “โหวตเตอร์” ที่เป็น “ฐานเสียงเดียวกัน”
สะท้อนพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการ “แปรญัตติ” งบปี 65 จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทไปเป็น “งบกลาง” กลายเป็นวิวาทะ “ตีเช็คเปล่า” ให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้แก้โควิด
ความแตกแยกของคนในประเทศ-ทุกวงการ ทั่วทุกย่อมหญ้า ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ ทำให้ “เสียงนอกสภา” ที่เคยสรรเสริญเยินยอ กลายเป็น “เสียงก่นด่า” เหลือเพียง “เสียงในสภา” ที่มี “พรรคร่วมรัฐบาล” และ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่มองเห็นแต่ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” และ “เพิกเฉย” หรือ “ทำเป็นไม่ได้ยิน” เสียงประชาชนระคน “เสียงสะเอื้อน” โกรธแค้น-ชิงชัง