ไทยส่อระดมทุนนอกตลาดหุ้นขุดคลองกระ
โอกาสขุดคลองกระเริ่มสดใส หลังผู้เกี่ยวข้องเร่งจัดทำ White Paper หวังระดมทุน “นอกตลาดหุ้น” จากนักลงทุนทั่วโลก ระบุใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ กึ่งหนึ่งสร้างระบบสาธารณูปโภคและผุดนิคมอุตสาหกรรม อีกครึ่งใช้ขุดดินสร้างคลองเชื่อมทะเล
แย้มต่างชาติจ้องนำดินถมทะเลสร้างเกาะเทียม 2 ฝั่งทะเลไทย ก่อนนำหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก ชี้หากไทยไม่ทำ อาจตกเป็นเหยื่อ “แยกประเทศ” เหมือนกรณีขุดคลองปานามา
นายภักดี ธนะปุระ ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ และแกนนำสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา กล่าวถึงโอกาสของไทยในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำและกำหนดทิศทางของเส้นทางการเดินเรือโลก ว่า ขณะนี้หลายประเทศชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อาหรับ และอื่นๆ รวมถึง ชาติอาเซียน ต่างเห็นด้วยหากไทยจะเดินหน้าโครงการขุดคอคอดกระ หรือคลองกระ เพราะแม้จะต้องใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ สูงถึงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็มีหลายประเทศที่พร้อมจะร่วมลงทุน ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวครึ่งหนึ่งจะถูกใช้เพื่อการขุดลอกคลองตลอดเส้นทางที่ยาวกว่า 100 กม. และอีกครึ่งหนึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อการสร้างระบบสาธารณูปโภค, โครงการท่าเทียบเรือ, นิคมคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในพื้นที่ภาคใต้
“ตอนนี้หน่วยงานสำคัญๆ อาทิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาพัฒน์ และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ฯลฯ ต่างตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของโครงการขุดคลองกระ ซึ่งหลายประเทศได้ให้ความสนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้ โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่พร้อมจะลงทุนขุดดินเพื่อสร้างคลองกระ ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือสายใหม่เชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งทะเลไทย และนำดินจำนวนมหาศาลที่ได้ไปถมทะเลเพื่อสร้างเกาะขึ้นมาใหม่ ทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยจะนำเกาะที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหุ้นชั้นนำของโลก”
นายภักดี ยังกล่าวอีกว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้น ซึ่งตนก็บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด แต่จะทำให้เหล็กจากทั่วโลก ถูกนำเข้ามาเพื่อใช้การก่อสร้างโครงการนี้และโครงการต่อเนื่องจากการขุดคลองกระของไทย ทำให้แรงงานไทยและแรงงานต่างชาติได้มีงานทำ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ทั้งงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคอุตสาหกรรมการบริการ เกิดขึ้นตามมาอีกเป็นจำนวนมาก กระทั่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ทั้งในพื้นที่ภาคใต้และทุกภาคของไทย เนื่องจากทำเลใหม่นี้จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศ “ปากซอย” แทนการเป็น “ก้นซอย” อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
“ผมอยากเห็นโครงการขุดคลองกระเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลไทย ไม่อยากเห็นการเกิดขึ้นของโครงการนี้ มาจากแรงบีบของต่างชาติ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง ชาติมหาอำนาจแยกประเทศปานามาออกมาจากโคลัมเนีย และทันทีที่แยกประเทศออกมา ก็ประกาศเดินหน้าขุดคลองปานานาอย่างที่เห็นกันในวันนี้” นายภักดีกล่าวสรุป
ด้านนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550, สื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงเหล็ก แต่ยังรวมถึงปูนซีเมนต์ที่จะถูกผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเอามาใช้ในโครงการดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลไทยจะต้องเดินหน้าโครงการขุดคลองกระ ก็เพราะปัญหาการจราจรที่แออัดและคับคั่งของเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ บริเวณช่องแคบมะละกา (ระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์) ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก และเส้นทางรองคือ ช่องแคบลอมบอก (อินโดนีเซีย) จนทำให้เกิดปัญหา “คอขวด” สร้างความล่าช้าในการขนส่งทางทะเล
อีกทั้งความต้องการในการแข่งขันของธุรกิจรับส่งพัสดุและสินค้าทางทะเล อันเป็นผลมาจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ช) กลายเป็นแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยต้องเดินหน้าโครงการนี้ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดเวลาการเดินทาง (ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก-ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย) ราว 1.5 – 3 ถึง 4 วัน ยังช่วยร่นระยะทางอีกราว 1,300 – 1,500 กม.อีกด้วย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของต้นทุนการขนส่งทางทะเลอีกด้วย
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยต้องช่วยกันผลักดันให้โครงการขุดคลองกระเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ และหากโครงการนี้เกิดขึ้น จะกลายเป็นสุดยอดโครงการอภิมหาเมกกะโปรเจ็คต์ที่คนทั่วโลกอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน โดยที่รัฐบาลไทยและคนไทยไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงิน เนื่องจากมีแผ่นดินไทยเป็นต้นทุนหลักสำคัญอยู่แล้ว อีกทั้งโครงการนี้ยังจะทำให้ลดทั่งระยะทางและเวลาในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี” นายพิเชียร ระบุ
รายงานข่าวจากสมาคมคลองไทยฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมาคมคลองไทยฯ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการประสานงานและผลักดันโครงการขุดคลองกระ รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงินระหว่างประเทศ (Fintech) จัดทำเอกสารเพื่อเสนอแนะและชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อระดมทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ (White Paper) หรือการออก Initial coin offering : ICO เพื่อนำไประดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลก
ทั้งนี้ การจัดทำ White Paper เพื่อการระดมทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 1 ใน 3 ของมูลค่าลงทุนรวมกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากต้องเปิดทางให้ชาติมหาอำนาจ และประเทศที่มีส่วนได้เสียจากการเกิดขึ้นของคลองกระ รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียได้เข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้ เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีจากผู้กุมอำนาจรัฐในไทย ที่ต้องการเห็นโครงการขุดคลองกระเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ อีกทั้ง ยังมีแรงบีบจากรัฐบาลนานาประเทศ ที่ไม่ต้องการพึงพิงเฉพาะการเดินเรือขนส่งทางทะเล ผ่านทางช่องแคบมะละกาและช่องแคบลอมบอกมากเกินไป เนื่องจากมีต้นทุนและความเสี่ยงที่สูง นั่นจึงเป็นที่มาของการเดินหน้าจัดทำ White Paper ขึ้นมารองรับโครงการขุดคลองกระในครั้งนี้.