โควิดฯทุบท่องเที่ยว ฉุดจีดีพี’64 เหลือ 2.3%
คลังฝ่อ! ปรับลดจีดีพี จาก 2.8% เหลือ 2.3% สวนทางเศรษฐกิจโลกและ 15 ประเทศคู่ค้าสำคัญ เผยเบื้องลึกจากพิษโควิดฯรอบ 3 และความล่าช้าของวัคซีนฯ ดึงรายได้ท่องเที่ยวทรุดแรง! ด้าน “โฆษกคลัง” แอบหวังครึ่งปีหลัง รัฐฉีดวัคซีนคนไทยได้เยอะ พ่วงต่างชาติถือ “พาสปอร์ตวัคซีน” ดันท่องเที่ยวไทย ขยับเพิ่มจากเป้าใหม่ที่ปรับลดเหลือแค่ 2 ล.คนในปี’64
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ว่า ได้รับลดลงจากเดิม 2.8% เหลือ 2.3% (ช่วงคาดการณ์ 1.8 – 2.8%) เพราะผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในไทย ที่คาดว่าทั้งปีจะเหลือเพียง 2 ล้านคน
แม้ว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ 15 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะขยายตัวที่ 11.0% (ช่วงคาดการณ์ 10.5- 11.5%) แต่เพราะปัญหาโควิดฯที่ฉุดรายได้จากการท่องเที่ยว จึงนับเป็นตัวการสำคัญทำให้ต้องปรับลดจีดีพีลงมา
“คาดว่าครึ่งปีหลัง รัฐบาลจะกระจายการฉีดวัคซีนโควิดฯให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ฉีดวัคซีนจากบ้านเขาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ตามแผนที่รัฐบาลวางแผนเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศได้มากขึ้น” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินมาตรการทางการคลังของรัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิดฯผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 2.3% และ 4.8% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 5.0% และ 10.1% ตามลำดับ
สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.2% ของ GDP ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมูลค่าสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
“ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุและย้ำว่า
ไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป.