ครม.ไฟเขียว งบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน รายจ่ายประจำ 76%
ครม. ไฟเขียวรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท โดยยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมได้รับสัดส่วนงบประมาณสูงสุด
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแนวทางจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้
-รายจ่ายประจำ 2,360,543.0 ล้านบาท ลดลง 177,109.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 6.98 จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ
-รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เนื่องจากในปีงบประมาณปี 2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณ
-รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978.6 ล้านบาท เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่ได้นำไปใช้จ่ายตามนัยมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.81 ของวงเงินงบประมาณ
-รายจ่ายลงทุน จำนวน 624,399.9 ล้านบาท ลดลง 24,910.3 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ
-รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.22 ของวงเงินงบประมาณ (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,518.2 ล้านบาท)
นายอนุชา กล่าวว่า เมื่อจำแนกการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามยุทธศาสตร์แล้ว พบว่า ยุทธศาสตร์ที่มีสัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อยู่ที่ 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.67 ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรร 709,866.98 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเอง รวมทั้งยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมมาใช้สมทบเพื่อดำเนินโครงการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้เสนอแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยขอให้หน่วยรับงบประมาณ รักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุน ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการหรือแผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่ม ในแผนงานพื้นฐาน รวมทั้งไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ที่มีภาระผูกพัน โดยให้หน่วยรับงบประมาณปรับปรุงรายละเอียดตามแนวทางดังกล่าวและส่งผลการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณส่งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 18 มี.ค. 2564 เพื่อให้สำนักงบประมาณนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์ต่อไป (อังคาร 23 มี.ค. 2564) โดยส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ให้พิจารณาเพิ่มรายจ่ายลงทุนจากแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย เช่น การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) และการลงทุนของหน่วยงาน ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (THAILAND FUTURE FUND) รวมทั้งพิจารณาการใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วย