ล้มแก้รัฐธรรมนูญ ปลุกม็อบรอบใหม่
ถ้าวันนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่มไม่เป็นท่า ความโกรธ จะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
แทนที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องมือที่สามารถฟันธงได้ว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังเดินหน้าอยู่นั้น มาถูกทางแล้วหรือเปล่า
ภายหลัง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.เล่นเกมยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจต้องทำประชามติก่อนหรือไม่
กระทั่งที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ออกมา 3 บรรทัดครึ่ง และก่อให้เกิดการตีความเป็น 2 ทาง เพราะมีข้อความดังนี้
“รัฐสภามีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง“
คำวินิจฉัยดังกล่าว ก่อให้เกิดการตีความเป็น 2 ทาง
ทางที่ 1 โดยฝ่ายค้านและพรรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่นั้น เดินมาทางถูกทางแล้ว โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการโหวตในวาร 3 วันที่ 17 มี.ค.นี้ ก็ให้โหวตต่อไป แล้วจึงค่อยทำประชามติหลังจากนั้น
ทางที่ 2 โดย ส.ว.กับพรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นโฆษะ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ สั่งว่าจะต้องทำประชามติก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่ขณะนี้ เมื่อยังไม่มีการออกเสียงประชามติ ไม่มีการถามประชาชนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงเท่ากับขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กระบวนการที่แล้วมาจึงต้องตกไป และหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด โดยการทำประชามติก่อน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นว่า ก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการทำประชามติทั้งก่อนและหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะต้องทำประชามติตั้งแต่แรกเริ่มของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐสภาขณะนี้จึงไม่สามารถไปต่อได้
“เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะโหวตในวาระ 3 วันที่ 17 มี.ค. นี้หากปรากฏว่ามีการโหวตรับร่างดังกล่าว ก็จะเท่ากับการจบกระบวนการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าต้องให้มีการทำประชามติก่อน นั่นจะมีสมาชิกรัฐสภา ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกรอบ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 นั้น ชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่” เสรี กล่าวและว่า “อย่างนั้น ไอ้ที่ผ่านมาทั้งหมด มันเดินต่อไม่ได้แล้วแหละ เพราะเท่ากับไม่ได้ถามประชาชน“
เฉพาะ 2 ความเห็นดังกล่าว สะท้อนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอันต้องตกไปอย่างแน่นอน ซึ่งอาจไม่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ตีตกด้วยซ้ำ
เพราะแค่ ส.ว.ไม่เห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางไปต่อได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง จึงจะผ่านได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ หากจะมีการตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง จะเป็นชนวนอันจะก่อให้เกิดการชุมนุมใหญ่ครั้งใหม่หรือไม่
สำหรับม็อบนั้น แม้ว่าขณะนี้จะดูแผ่วกำลังลงมาก เนื่องจากแกนนำถูกจับกุม แต่กระนั้น ก็มีความพยายามปลุกพลังใหม่ๆขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมเดินทะลุฟ้า ยังได้รับความสนใจมีประเด็นบ้านบางกลอยซึ่งแกนนำม็อบบางส่วนไปเกาะติด
เพียงแต่ยังไม่ใช่จังหวะเวลาประจวบเหมาะ และยังไม่มีประเด็นใหญ่ๆที่จะส่งผลให้คนจำนวนมากออกมาเหมือนที่เคย ก็เท่านั้น
อีกประเด็นคือ ต้องอย่าลืมว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะการผลักดัน กดดันจากการชุมชุมของกลุ่มราษฎร ก่อให้รัฐสภาต้องขยับสอดรับกับความเคลื่อนไหว
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินทางไกลถึงวันนี้ ได้รับอนิสงฆ์จากการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 เรื่อยมาจนขยายใหญ่ขึ้นในเดือน ต.ค.2563 เพราะลำพังการผลัดกันของ ส.ส.ในสภา คงไม่สามารถช่วยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้ถึงขนาดนั้น
แต่ถ้าวันนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มไม่เป็นท่า ความโกรธ จะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย