จี้ปตท.แก้ปมทุนจีนลดสเปควาล์วท่อก๊าซ
ช่วงเวลาที่อำนาจการตรวจสอบของภาคประชาชนอ่อนแอ ย่อมกลายเป็นช่องทางอันมิชอบของทุนบางกลุ่ม? ที่ลากเอาทุนใหญ่จากต่างชาติเข้ามากอบโกยและแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีตามมาในอนาคตอันใกล้?
ประเด็นร้อนสุดๆ ก่อนจะทำการเซ็นอนุมัติให้กลุ่มทุนต่างชาติ ได้นำอุปกรณ์หลัก อันเป็น “ฟันเฟือง” ตัวจักรสำคัญ ซึ่งมีมาตรฐานคุณภาพไม่ตรงตามสเปคที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ มาใช้กับโครงการขนาดใหญ่ยามนี้ คงไม่พ้นกรณีของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั่นคือ โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 จาก จ.ระยอง ถึง จ.นนทบุรี รวมระยะทางกว่า 415 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวม 8 จังหวัด (ระยอง, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, อยุธยา และนนทบุรี)
ว่ากันว่าโครงการมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านบาทนี้ ได้ผู้ชนะการประมูลในโครงการย่อยของโครงการใหญ่ คือ บริษัทผู้รับเหมาข้ามชาติจากประเทศจีน โดยแหล่งข่าวจาก ปตท. ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบสเปคของอุปกรณ์หลักๆ ที่กลุ่มทุนจีนเสนอมานั้น ไม่ตรงตามสเปคที่ระบุไว้ทีโออาร์ และมีคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรการสากล
โดยหากมีการนำอุปกรณ์หลักที่ ซึ่งก็คือ วาล์วที่มีสเปคต่ำกว่ามาตรฐานสากลไปใช้ดำเนินโครงการวางท่อก๊าซฯดังกล่าวจริง โดยที่ฝ่ายบริหารของ ปตท.รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทั่งปล่อยผ่านให้มีการนำวาล์วที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ในโครงการวางท่อก๊าซฯบนบกครั้งนี้แล้ว อาจก่อปัญหาตามมาได้ในอนาคต
“ปกติ ปตท.จะมีหน่วยงานกลาง ในรูปของคณะกรรมการต่างๆ เช่น ผู้สังเกตการณ์อิสระ ตามข้อตกลงคุณธรรม คอยทำหน้าที่ตรวจสอบสเปคของวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการต่างๆ แต่ตอนหลังได้เปลี่ยนมาให้แต่ละฝ่ายที่เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการว่าจ้างบริษัทคอนซัลฯ (ที่ปรึกษา) ทำการตรวจสอบกันเอง ซึ่งตรงนี้อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้ ทั้งนี้ หากต้องจ้างคนนอก ก็ควรเป็นกลุ่ม Third Party (บุคคลที่ 3) ที่ได้รับการรับรอง หรือนำเข้ามาจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการมากกว่า” แหล่งข่าวจาก ปตท. ระบุ พร้อมกับยอมรับว่า…
“เรื่องนี้จัดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่และอันตรายร้ายแรงอย่างมาก แน่นอนว่าปัญหาการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติ คงจะไม่เกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปี ภายหลังทำการส่งมอบโครงการฯให้กับปตท.แล้ว แต่หลังจากนั้น ผมไม่มั่นใจเลยว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นตามมา เนื่องจากสเปคที่บริษัทผู้รับเหมาของจีนเสนอมานั้น ผิดและต่ำกว่าเสปคเดิมที่ระบุไว้ตามข้อตกลงทีโออาร์ จึงอยากให้ฝ่ายบริหารของ ปตท. ได้เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ และต้องกำชับให้ทุนจีนกลุ่มนี้ กลับไปใช้วาล์วให้ตรงตามสเปคที่กำหนดตั้งแต่ต้น”
แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า อยากให้ฝ่ายบริหารของ ปตท. ในยุคที่ไร้การตรวจสอบจาก “ตัวแทนอำนาจประชาชน” เช่นนี้ เดินหน้าสร้างระบบตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อความถูกต้องและชอบธรรมในการวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติบนบกในรอบนี้ ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปี 2563-2564 ที่จะถึงนี้
เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาเมื่อใด ผลพวงแห่งปัญหาย่อมเกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ ปตท. หากยังรวมถึงวิถีชีวิตของคนไทย ภาพลักษณ์ของประเทศ และระบบเศรษฐกิจของชาติ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน.