อินเดียเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 มากสุดในโลก
นิวเดลี : เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีจะเริ่มดำเนินโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยประเทศที่มีประชากรมากแห่งนี้พยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดด้วยวัคซีนที่ผลิตในประเทศ
โดยนายกฯโมดีจะมีพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ผ่านการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แต่จะยังไม่ฉีดวัคซีนในทันที เนื่องจากอินเดียให้ความสำคัญลำดับแรกกับพยาบาล แพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทุกคนก่อน
รัฐบาลระบุว่า ในวันแรก มีอาสาสมัครที่เข้ารับวัคซีนเฉลี่ยประมาณ 100 คนในศูนย์ฉีดวัคซีน 3,006 แห่งในประเทศ โดยระบุว่าเป็นการเริ่มโครงการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“นี่จะเป็นโครงการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศ” สำนักนายกฯ ระบุในแถลงการณ์สัปดาห์นี้
อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดรองจากจีน ระบุว่า อาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมด 1,350 ล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรก็ทำให้โครงการฉีดวัคซีนของอินเดียเป็นหนึ่งในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ มีโครงการฉีดวัคซีนให้ทุกคน
อย่างไรก็ตาม ผู้รับวัคซีนจะไม่สามารถเลือกได้ว่าจะขอฉีดวัคซีนของม.ออกซ์ฟอร์ด / บ.แอสตราเซเนกา หรือวัคซีน 2 ตัวที่รัฐบาลสนับสนุน โดยวัคซีนตัวหนึ่งเป็นการพัฒนาของภารัตไบโอเทค แต่ยังไม่ทราบถึงประสิทธิภาพวัคซีน แต่ทั้งสองตัวผลิตในอินเดีย
อินเดีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมจากโควิด-19 สูงสุดรองจากสหรัฐฯ ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ประมาณ 300 ล้านคนในช่วงเวลา 6 – 8 เดือนแรกของปีนี้
จนถึงตอนนี้ อินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 10.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 151,000 คน โดยอัตราผู้ติดเชื้อลดลงหลังช่วงพีคสุดกลางเดือนก.ย.
โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนก่อนคือประมาณ 30 ล้านคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า เช่น ฝ่ายทำความสะอาดและความปลอดภัย กลุ่มต่อไปคือประมาณ 270 ล้านคนที่มีอายุเกิน 50 ปี หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคประจำตัว
ทั้งนี้ นายกฯโมดี ในวัย 70 ปี ระบุว่านักการเมืองไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า
ในวันที่ 16 ม.ค. เขาคาดการณ์ว่าจะมีพิธีเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ Co-WIN อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะให้ข้อมูลเรื่องลต็อกวัคซีน อุณหภูมิในการจัดเก็บ และการติดตามผู้ที่ฉีดวัคซีน
รัฐบาลได้จัดซื้อวัคซีนโควิชีลด์ (Covishield) ของบ.แอสตราเซเนกา 11 ล้านโดส ซึ่งผลิตโดยสถาบันเซรุ่มของอินเดีย และอีก 5.5 ล้านโดสคือวัคซีนโควาซิน (Covaxin) ของภารัตไบโอเทค
จากข้อมูลของหน่วยงานที่กำกับดูแลยาของอินเดีย วัคซีนโควิชีลด์มีประสิทธิภาพ 72% ขณะที่ภารัตไบโอเทคระบุว่า คาดการณ์ว่าจะได้ผลการทดสอบวัคซีนระยะสุดท้ายของโควาซินในเดือนมี.ค.