สรรพากรรีดภาษี 11 ด. เกินเป้า 3.6 หมื่นล.
สรรพากรแจง ยอดเก็บรายได้ 11 เดือนแรก ปีงบฯ62 เกินเป้าหมาย 3.6 หมื่นล้านบาท เผยยอดเก็บแว็ตนำโด่งที่ 7.36 แสนล้านบาท รองมาคือ ภาษีนิติบุคคล 5.54 แสนล้านบาท ด้าน “เอกนิติ” มั่นใจ จัดเก็บรายได้ตามเป้า 2 ล้านล้านบาท
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีสรรพากร 11 เดือนของปีงบประมาณ 62 (ต.ค.61 – ส.ค.62) ว่า สามารถจัดเก็บรายได้รวม 1,775,101 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ (2.0 ล้านล้านบาท) 36,118 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 85,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1
ด้าน นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีฯ ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมถึงผลจัดเก็บตามประเภทภาษีสำคัญมีรายละเอียดดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ 554,121 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 4,521 ล้านบาทและสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 จากผลประกอบการของนิติบุคคลในปีก่อนที่ปรับตัวดีขึ้น
2. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บได้ 99,556 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 52,986 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 56.6 จากการเร่งรัดติดตามจัดเก็บภาษีกับผู้ประกอบการปิโตรเลียม และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ จัดเก็บได้ 56,539 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ
1,193 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 จากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น
ก่อนมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่สองในเดือนเมษายน 2562
4. อากรแสตมป์ จัดเก็บได้ 14,680 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 352 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.5 จากการจัดเก็บภาษีจากสัญญาและตราสารเพิ่มขึ้นตามโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชน
5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 736,416 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 22,188 ล้านบาท แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากร ยังได้กล่าวสรุปอีกว่า การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร แม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เช่น สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 62 กรมสรรพากรจะเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งรัดติดตามการจัดเก็บภาษี รวมถึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดเก็บภาษี โดยมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 62 นี้ จะสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 2.0 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ให้ยั่งยืนต่อไป.