อารยธรรมโบราณที่ปราสาทวัดพูแห่งเมืองลาว
หากว่าเอ่ยถึงปราสาทวัดพูแห่งเมืองลาว อาจจะมีนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนที่ยังไม่ค่อยจะคุ้นหูมากนัก
ทั้งนี้ ปราสาทวัดพูเป็นโบราณสถานซึ่งตั้งอยู่ในเมืองลาวบริเวณทางตอนใต้ในแขวงจำปาสัก ประกอบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานและความยิ่งใหญ่ของปราสาท ส่งผลให้โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก้เป็นมรดกโลก ปราสาทวัดพูแห่งเมืองลาวได้รับการก่อสร้างขึ้นในยุคสมัยที่ก่อตั้งอาณาจักรกัมพูชาแต่โบราณกาล และยังคงอารยธรรมหลายต่อหลายด้านจากยุคนั้นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ตราตตรึงไปกับปราสาทวัดพู ปราสาทมรดกโลก จัดเป็นมรดกโลกลำดับที่สองของเมืองลาว ซึ่งลักษณะภายนอกอาจจะดูคล้ายกับปราสาทขอม ตามประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการค้นพบนั้น ว่ากันว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะเจ้านั่นเอง ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้คือการตั้งอยู่ ณ ภูคลาย อันเป็นเนินเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเก่าของจำปาสักเป็นระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร อีกทั้ง ลักษณะของปราสาทวัดพูแห่งนี้ หากมองผาดเผินก็แทบจะไม่ต่างกับเทวสถานของขอมเลย
อัศจรรย์ความเป็นมาจากจดหมายเหตุ 2 แผ่นดินของปราสาทหินวัดพู เนื่องจากที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ในอดีตกาลเคยเป็นเมืองโบราณแห่งอารยธรรมของเขมร ซึ่งเมืองแห่งนี้มีนามว่าเสดถะปุระ จากการศึกษาหลักจารึก ทำให้นักโบราณคดีค้นพบว่ากษัตริย์ชื่อเทวนิกะเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างปราสาทหินวัดพู แต่ทั้งนี้หลักฐานว่ากษัตริย์เทวนิกะสร้างปราสาทแห่งนี้ก็มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถระบุได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างโดยกษัตริย์พระองค์นี้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี ความเป็นมาของปราสาทแห่งนี้ก็ใช่ว่าจะถึงทางตัน เพราะนักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบจดหมายเหตุของจีนโบราณอันเกิดขึ้นในราชวงศ์สุย โดยมีเนื้อความในจดหมายเหตุว่า อาณาจักรโบราณนามเจนละ อยู่ในละแวกภูเขาสูง ซึ่งเมืองหลวงของเจนละนั้นมีภูเขาอันแสนศักดิ์สิทธ์นามว่าลิเจียโปโปที่มีเทพเจ้าชื่อโพโตลิประทับอยู่ และสถานที่แห่งนี้ก็ยังมีทหารดูแลมากถึง 1000 นาย
นอกจากนี้ กษัตริย์แห่งเจนละยังเสด็จมายังภูเขาแห่งนี้เพื่อทำพิธีบูชายัญมนุษย์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการบูชาสังเวยเทพโพโตลิ จากจดหมายเหตุฉบับนี้นั่นเองที่ทำให้นักวิชาการตีความว่า เจนละคืออาณาจักรสำคัญของเขมรยุคก่อนจะมีเมืองชื่อพระนคร ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมไปจนถึงตอนเหนือของกัมพูชา และครอบคลุมไปจนถึงภาคอีสานและทางใต้ของลาวอีกด้วย ส่วนกลางของอาณาจักรเจนละนั้นน่าจะอยู่แถบจำปาสัก ซึ่งก็คือสถานที่แห่งนี้นั่นเอง ในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของภูเกล้า ซึ่งคำว่าลิงเจียโปโปเป็นการออกเสียงตามแบบฉบับของชาวจีน แต่หากเรียกโดยสำเนียงลาวแล้ว จะพบว่าน่าจะเป็นคำว่า “ลิงคปารวตา” หรือ “ภูเกล้า” ส่วนโพโตลิ คือ “ภัทเรศวร”
ชมความงามตระการตาบนเนินเขาสูงเหนือระดับน้ำทะเล สำหรับปราสาทแห่งนี้มีความสูงเหนือจากระดับน้ำทะเลถึง 607 เมตร ซึ่งหากเดินมาจากทางด้านหน้าของปราสาท นักท่องเที่ยวจะพบกับบารายที่เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ประกอบด้วยขอบสระที่สร้างจากหินทราย ขนาดของบารายแห่งนี้กว้าง 200 เมตรและยาวมากถึง 600 เมตรเลยทีเดียว ความเชื่อของคนลาวแต่เดิม ว่ากันว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “หนองสระ” โดยแต่ก่อนที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของศาลาสำหรับรับเสด็จกษัตริย์ลาว แต่ทว่าถูกรื้อถอนไปในปี พ.ศ. 2500
อลังการทางเดินสำหรับกษัตริย์และชนชั้นสูงกว่า 280 เมตร สุดตระการตา สำหรับจุดที่ได้รับการขนานนามว่าอลังการมากกว่าจุดอื่น ๆ ได้แก่ ทางเดินระยะกว่า 280 เมตรที่ปูพื้นถนนด้วยหินทราย ส่วนบริเวณขอบทางเดินสองข้างนั้นได้รับการประดับประดาด้วยเสาหินสร้างเป็นรูปดอกบัวโดยรอบและมีชื่อว่าเสานางเนียง เสาหินนี้มีหน้าที่สำหรับกำหนดขอบเขตเส้นทางเดินสำหรับกษัตริย์และชนชั้นสูงนั่นเอง โดยทางเดินของที่นี่จะแลคล้ายกับที่ปราสาทหินพนมรุ้งค่อนข้างมาก สร้างความงดงามสุดประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
เยี่ยมชมพลับพลาวิจิตรงดงาม จากทางเดินที่ทำด้วยหินทรายจะนำนักท่องเที่ยวไปสู่พลับพลา ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงและอิฐต่าง ๆ แต่ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การก่ออิฐศิลาแลงเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยลายสลักแสนงดงาม ตามการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์สถานที่แห่งนี้แต่เดิมอาจจะเป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนพิธีหรือว่าไม่ก็เป็นที่ประทับของกษัตริย์ก็ได้ นอกจานี้ ระหว่างการชมความงดงามและความโดดเด่นของปราสาทหินเมืองภูนี้ นักท่องเที่ยวยังจะได้ชมเสน่ห์ของดอกลั่นทมสวยงามที่แผ่กิ่งก้านอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดอีกด้วย ซึ่งดอกลั่นทมที่ปลูกในบริเวณปราสาทนี้ถือเป็นเสน่ห์เอเซียอีกอย่างหนึ่งของปราสาทแห่งนี้เลยก็ว่าได้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาประสบการณ์แปลกใหม่ในการชมปราสาทหินที่นอกเหนือไปจากนครวัด การเลือกชมปราสาทหินวัดพูนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การเข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศลาว ทั้งนี้ ปราสาทหินวัดพู ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองจำปาสัก 10 กิโลเมตร และมีค่าเข้าชมประมาณ 40,000 ต่อคน โดยจะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 8:00 น.–16:30 น.
การเดินทาง : นักท่องเที่ยวสามารถโดยสารทางรถประจำทางจากกรุงเทพมหานครมาที่จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นมาต่อรถโดยสารเพื่อมายังปากเซ และค่อยเดินทางมาต่อรถโดยสารที่จำปาสักอีกครั้ง โดยจะมีรถรับจ้างรอให้บริการจากจำปาสักมาที่ปราสาทวัดพู ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการได้ไม่ยาก