สักการะพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิต
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการไปสัมผัสความงดงามที่ประเทศพม่า
การเลือกเดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยวเคยมีโอกาสไปเยือนมัณฑะเลย์แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปสักการะพระมหามัยมุนีอาจจะกล่าวได้ว่ายังไปไม่ถึงมัณฑะเลย์เลยสักทีเดียว
พระประวัติของพระมหามัยมุนีแห่งมัณฑะเลย์ พระมหามัยมุนีถูกสร้างขึ้นนับแต่สมัยของพุทธกาล ซึ่งชาวพม่าได้เล่าขานกันสืบมาว่าพระมหามัยมุนีได้รับการหล่อขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 688 ผู้สร้างคือพระเจ้าจันทสุริยะ หรือกษัตริย์แห่งเมืองธรรมวดีเชื้อสายยะไข่
ในช่วงก่อร่างสร้างวัดแห่งนี้ พระเจ้าจันทสุริยะเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเลื่อมใสในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก พร้อมกันนั้น ยังจัดว่าเป็นผู้ที่ใฝ่ฝันที่จะกราบไหว้พระพุทธองค์เสมอ ทำให้ในยุคที่พระองค์ปกครองประเทศ จึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเปรียบเสมือนกับตัวแทนของพระองค์ขึ้นนั่นเอง หลังจากที่เททองเพื่อหล่อพระพุทธรูปนี้ไป แต่ไม่ประสบความสำเร็จถึงสองครั้งสองคราเมื่อจะทำการหล่อในคราวที่สาม ก็ปรากฎว่ามีบุคคลที่ความเป็นมาลึกลับมาช่วยทำการเททองหล่อพระจนประสบความสำเร็จ เกิดเป็นพระพุทธรูปขึ้นมาได้ตามความประสงค์ว่ากันว่า ชายลึกลับผู้นั้นคือองค์เทวดาจำแลงกายมาช่วย
แต่เดิมนั้น พระพุทธรูปองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดยะไข่ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ของพม่าปรารถนาจะย้ายพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่เมืองหลวงของตนเอง แต่กลับไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดสามารถกระทำการย้ายพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่เมืองหลวงของตนได้ลุล่วงสักพระองค์ จนกระทั่งมาถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าปดุง ผู้ทรงบารมี และสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปนี้ข้ามมาสู่อีกฟากฝั่งของ แม่น้ำอิระวดีได้สำเร็จ จากนั้นก็ได้ย้ายมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์ในช่วงปีพ.ศ. 2327 เป็นต้นมา ด้วยความภาคภูมิใจของพระเจ้าปดุง เมื่อทรงสามารถย้ายพระมหามัยมุนีได้สำเร็จ ทำให้พระเจ้าปดุงเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าตนเองมีมหิทานุภาพเหนือกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นๆ ที่ผ่านมาว่ากันว่า พระองค์ทรงประเมินตนเองว่าอยู่เหนือกว่าบุเรงนองมหาราช อลองพญามหาราช หลังจากนั้น พระเจ้าปดุงก็ได้ยกทัพมาตีกรุงรัตนโกสินทร์ แต่กลับพบความปราชัยไปถึงสองครั้งด้วยกัน
พระพุทธรูปที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ความเชื่อและความศรัทธาของชาวเมืองมัณฑะเลย์แห่งนี้ ต่อองค์พระมหามัยมุนีประเมินค่ามิได้ ซึ่งหนึ่งในความเชื่อนั้นก็คือ พระมหามัยมุนียังมีชีวิตอยู่ อันเนื่องมาจากพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจที่มีความศักดิ์สิทธิ์ไปในพระวรกายของพระพุทธรูปองค์นี้นั่นเอง ทำให้ชาวบ้านที่นี่จะไม่ปิดทองบริเวณพระพักตร์ของพระมหามัยมุนี นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้มากราบไหว้สักการะพระมหามัยมุนี ก็จะได้รับแรงความศรัทธาที่แสนล้ำค่าจากพระพุทธศาสนากลับไปเป็นสิริมงคลกับตัวด้วยนั่นเอง
ชมความงามของพระมหามัยมุนี พระมหามัยมุนีสร้างจากทองสำริด ทำให้มีความสวยงามมากกว่าพระพุทธรูปทั่วไป และมีขนาดใหญ่พอสมควร สำหรับขนาดหน้าตักมีความกว้างมากถึง 9 ฟุต และมีความสูงที่ 12 ฟุต ในปัจจุบันนี้ พระมหามัยมุนีได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหามัยมุนี ซึ่งเป็นนามเดียวกันกับพระพุทธรูป ทั้งนี้ วัดมหามัยมุนีแห่งนี้ เคยมีชื่อดั้งเดิมว่า วัดปยกยี ที่หมายถึงวัดยะไข่ อย่างไรก็ดี จากความศักดิ์สิทธ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ทำให้ชาวพม่าจำนวนมากหลั่งไหลมาเคารพสักการะทุกวัน และรวมทั้งคนไทยเองก็ยังนิยมไปสักการะพระพุทธรูปมหามัยมุนี้องค์นี้เช่นกัน หากพิจารณาดูจะเห็นว่า นับแต่เช้าจรดเย็นมีสุภาพบุรุษต่อแถวอย่างสำรวมเพื่อไปปิดทองพระมหามัยมุนีมากมาย โดยกฎของที่นี่กำหนดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเข้าปิดทองที่องค์พระได้ สำหรับผู้หญิงทำได้เพียงกราบไหว้พระที่บริเวณด้านล่างเท่านั้น เนื่องจากมีเขตหวงห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปนั่นเอง สาเหตุที่ห้ามก็เพราะความเชื่อที่ว่าพระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตนั่นเอง
รอยทองคำเปลวแห่งศรัทธา เพราะความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาร่วมสักการะและปิดทองที่องค์พระเป็นจำนวนมาก ทำให้ทองคำเปลวถูกปิดทับบนองค์พระ จนมีร่องรอยทองคำเปลวเต็มทั่วทั้งองค์พระ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือหลัง จึงได้มีการเรียกพระพุทธรูปองค์อีกชื่อหนึ่งว่าพระเจ้าเนื้อนิ่มนั่นเอง นอกจากนี้ จากความเชื่อที่ว่าพระองค์นี้ยังมีชีวิต ทำให้ชาวพม่าจัดพิธีล้างพระพักตร์ทุกวันสืบต่อกันมานานนับพันปี โดยการล้างพระพักตร์จะเริ่มที่เวลา 03.45 น. จากนั้นจะเริ่มพิธีการล้างพระพักตร์ด้วยการคลุมผ้าพระวรกาย มีการถวายผลไม้ เปลี่ยนดอกไม้บูชา ซึ่งการล้างพระพักตร์ด้วยน้ำผสมไม้จันทน์และทานาคาและล้างด้วยขันเงิน ขันทอง ขันธรรมดา อย่างละ 3 ครั้ง การเข้าชมความศรัทธาของชาวพม่าและร่วมสักการะต่อองค์พระมหามัยมุนีนั้น นับเป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่ง
ที่ตั้งวัดมหามัยมุนี: ตั้งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ประเทศพม่าไปทางทิศใต้ ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร
การเดินทาง: นักท่องเที่ยวสามารถโดยสารเครื่องบินตรงมาจากกรุงเทพมหานครมาลงที่สนามบินมัณฑะเลย์ จากนั้น เดินทางมาที่วัดมหามัยมุนีได้ด้วยการเรียกใช้บริการแท็กซี่ ซึ่งจะมีจอดให้บริการที่สนามบินมายังวัดพระมหามัยมุนี
ค่าเข้าชมวัดมหามัยมุนี 10,000 จ๊าดต่อคน และทางวัดจะเปิดให้สักการะตั้งแต่เวลา 04.00 น. – 20:00 น. ของทุกวัน