เกาะแกร์…ปิรามิดแห่งกัมพูชา
หากพูดถึงกัมพูชา หลายคนอาจนึกถึงคาสิโนที่อยู่ขอบอรัญประเทศ หรือไม่ก็เสียมเรียบ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ
จนเจ้าผู้ครองนครเขมรในสมัยนั้นเปลี่ยนชื่อเมืองให้ใหม่เป็นสยามราบเรียบ แล้วแปลงเป็นเสียมเรียบในปัจจุบัน ทำนองว่าถือเคล็ดตีเอาเมืองคืนให้ได้ว่าอย่างนั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วเมืองเสียมเรียบนี้มีแหล่งท่องเที่ยวแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ที่คงความสมบูรณ์อยู่จนถึงปัจจุบันมากมาย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวทั่วทั้งโลกก็จะใช้เวลาซึมซับศิลปะเขมร และศิลปะบายนอยู่ที่เสียมเรียบนี้เอง ส่วนคนไทยมีแหล่งท่องเที่ยวอีกที่ที่สำคัญอยู่ติดขอบชายแดน นั่นคือคาสิโนที่เกาะกงนั่นเอง
ส่วนใครที่มีเวลาอยู่เสียมเรียบหลายวันจนซึมซับศิลปะเขมรไปแล้วเต็มตัว ทั้งสถาปัตยกรรมและอาหาร รวมถึงการร่ายรำของนางอัปสรที่เป็นเอกลักษณ์งดงามมากพอแล้ว ยังมีอีกที่หนึ่งที่อยู่ออกนอกตัวเมืองเสียมเรียบออกไปราว 90 กิโลเมตร สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการบูรณะอย่างเป็นระบบอย่างที่เห็นในเสียมเรียบ พื้นที่หลายส่วนยังตกอยู่ในพื้นที่โอบล้อมของป่าเหมือนอยู่ในดินแดนอีกโลกหนึ่ง สถานที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า…ปิรามิดเกาะแกร์ เพราะสิ่งปลูกสร้างแห่งนี้รูปร่างเหมือนปิรามิดจริงๆ เป็นปิรามิดที่เรียกว่าสเตปป์คือลักษณะเป็นขั้นบันได แต่ดู ๆ ไปแล้วคล้ายกับปิรามิด Chichen Itza ของชาวมายันที่ประเทศเม็กซิโกเสียมากกว่า เพราะลักษณะเป็นหินใหญ่ซ้อน ๆ กันเป็นขั้น ๆ ตรงกลางมีบันไดสำหรับให้คนเดินขึ้นไปได้ถึงยอด เพียงแต่มหาปิรามิดแต่ละที่ มักจะมีจุดประสงค์ในการสร้างและการใช้งานแตกต่างกันไป เช่น มหาปิรามิดแห่งกิซ่าในอียิปต์นั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บพระศพของฟาโรห์ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่โลกภพหน้าที่บริเวณกลุ่มดาว Orion ในขณะที่ปิรามิด Chichen Itza ของชาวมายันนั้น สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่เซ่นสังเวยการบูชายัญให้กับเทพพระอาทิตย์ที่ชาวมายันยึดถือสูงสุด แต่ปิรามิดแห่งเกาะแกร์เป็นแท่นบูชาเทพพระศิวะ ตามพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู แม้ทั้งสามปิรามิดจะมีความต่างกัน อยู่ในแผ่นเปลือกโลกที่ต่างกันคือ อเมริกา แอฟริกา และ โอเชียเนีย แต่สิ่งที่ทั้งสามปิรามิดมีความคล้ายกันโดยบังเอิญคือตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลกเช่นเดียวกัน นับเป็นอีกหนึ่งความอัศจรรย์ที่น่าคิด
เกาะแกร์ เส้นทางคดเคี้ยวที่รอการมาเยือน: ปิรามิดเกาะแกร์ไม่ได้สูงใหญ่เทียบเคียงขนาดกับภูเขาเหมือนในอียิปต์ ขอบหินและเหลี่ยมมุมไม่ได้ถูกตัดแต่งเนี๊ยบนิ๊งจนขนาดเงาของหินสามารถบอกเวลาได้นับหลายร้อยปีเหมือนของมายัน แต่ปิรามิดเกาะแกร์ตั้งอยู่บริเวณลานโล่งใหญ่ที่รายล้อมด้วยซากปรักหักพังของปราสาทและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่พังถล่มอยู่โดยรอบมากมาย แถมยังถูกธรรมชาติกลืนกินเสียจนเราแอบขนลุกกับภาพเบื้องหน้าที่ปรากฎให้เห็นไม่ได้ เราต้องแหวกผ่านซากปรักหักพังต่าง ๆ คดเคี้ยวมากมายก่อนที่ตัวปิรามิดแห่งเกาะแกร์จะค่อย ๆ ปรากฎขึ้นเบื้องหน้า สร้างความขนลุกตั้งชันได้ไม่แพ้ 54 พระพักตร์แห่งปราสาทบายอนเลยทีเดียว
ความอัศจรรย์เหนือคำบรรยาย: เดิมทีเกาะแกร์เป็นเมืองศูนย์กลางใหม่ที่ถูกสร้างนอกเมืองเสียมเรียม เคยรุ่งเรืองช่วงระยะเวลาหนึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ปี ค.ศ. 921 เมื่อได้ทรงย้ายศูนย์กลางอำนาจตามประเพณีนิยมที่กษัตริย์มักสร้างเมืองใหม่เพื่อแสดงให้เห็นถึงบารมี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างให้ธรรมชาติยึดพื้นที่คืน เนื่องจากไม่สามารถทนการต่อต้านของกลุ่มอำนาจเก่าในราชสำนักได้ เกาะแกร์จึงเป็นเมืองหลวงได้เพียง 20 ปีเท่านั้น แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมชวนตะลึงได้ถูกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสชื่นชมจนถึงวันนี้ แม้ว่าสิ่งปลูกสร้างโดยรอบตัวปราสาทจะพังทลายเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ความงามที่มนุษย์และธรรมชาติร่วมกันสร้างช่างน่าอัศจรรย์เหนือคำบรรยาย
เทวสถานสร้างเพื่อบูชาเทพพระศิวะ: โดยปรากฎหลักฐานที่จุดยอดของปิรามิดมีฐานตั้งศิวลึงค์ขนาดใหญ่ ทั้งยังปรากฎฐานสี่เหลี่ยมสัญลักษณ์แทนโยนีตามแท่นพิธีสูงสุดในการหลั่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งศิวเทพสู่ท้องน้ำเบื้องล่างให้ผู้คนได้ดื่มกินเพื่อสิริมงคลตามวิถีของฮินดู มีความสูงเจ็ดชั้นสูงรองแต่เพียงนครวัดเพียงแห่งเดียว ตัวปิรามิดมีทางขึ้นสี่ด้าน แต่มีด้านเดียวที่มีบันไดไม้ แม้สภาพโครงสร้างจะไม่ค่อยน่าไว้วางใจเท่าไหร่นัก โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ใจถึงใช้ยึดเกาะและปีนขึ้นสู่ด้านบนของปิรามิดสูงใหญ่ แม้ว่าเกินกว่าครึ่งมักจะขอลงกลางทาง หากนักท่องเที่ยวคนใดผ่านบททดสอบนี้ไปจนถึงยอดก็จะได้สัมผัสกับความงามสุดอลังการของสิงห์ที่แบกฐานศิวลึงค์ด้านบน นับเป็นเทวาลัยที่แตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวที่ใด ๆ ในเสียมเรียบอย่างเห็นได้ชัด
หนทางไปปิรามิดเกาะแกร์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ระยะทางเพียง 80 – 90 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมงหลายคนอาจนึกสงสัยว่าทำไม ถนนในเขมรจึงเอาหินก้อนใหญ่ สีเหลืองๆ แดงๆ ขนาดเท่ากำปั้นผู้ใหญ่ไปโรยไว้บนถนน ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้คำตอบ ได้แต่นึกเดาสงสัยว่าหินคงถูกส่งตรงมาจากเหมืองหินกระมัง ไม่ได้เข้าโรงโม่ย่อยหินให้เรียบเป็นหินคลุกก่อนจะนำมาทำถนนลูกรังแบบในเมืองไทย ลองคิดดูแล้วกันว่า หากติดต่อรถตู้ท่องเที่ยวในเมืองเสียมเรียบแล้วบอกว่าจะไปเกาะแกร์ บรรดาเอเจนซี่ทัวร์ต้องติดต่อโทรศัพท์หารถไปไม่ต่ำกว่าสิบสาย ก็ใครจะอยากขับลุยบนพื้นถนนที่โรยด้วยหินขนาดเท่ากำปั้นเกือบตลอดเส้นทาง ถ้าไม่ใช่รถที่มีสภาพใกล้พังก็คงไม่กล้าขับไปอย่างแน่นอน สำหรับนักท่องเที่ยวที่วางแผนมาชมความงามของปิรามิดเกาะแกร์ก็ต้องยอมรับสภาพเส้นทางสุดโหด เพราะไม่เพียงจะเจ็บก้นและเมื่อยตัวราวกับเพิ่งร่วมแข่งขันโมโตครอสเสร็จใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังอาจจะได้แผลปูดโปนหัวโนจากการที่รถกระเด้งและหัวกระแทกหลังคาอยู่หลายครั้ง เรียกได้ว่าทั้งสนุกและทรหดแบบมีเสียงเฮโฮร้องโอดโอยกันไปตลอดทาง แต่เมื่อเทียบกับภาพความยิ่งใหญ่ของปิรามิดที่ได้เห็นบวกกับบรรยากาศเงียบสงัดและบริเวณโดยรอบที่ถูกโอบล้อมด้วยป่าและไม้เถาวัลย์เลื้อยเกาะหินขนาดสิบตัน นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจละเลยจากความทรงจำไปได้ และอาจเป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวที่เหนือกว่าทุกทริปเดินทางที่ผ่านมาในชีวิตเลยก็เป็นได้ คุณพร้อมหรือยัง
ถึงแม้จะเปิดให้เยี่ยมชมเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทางการได้เคลียร์ทุ่นระเบิดไปได้จนปลอดภัยแล้ว แต่กระนั้นก็ควรอยู่ในเส้นทาง ดังจะมีสัญลักษณ์เตือนอยู่เป็นระยะ ค่าเยี่ยมชมคนละ 10 USD หรือถ้ามีเงินไทยให้จ่าย 300 บาท เพราะเป็นอัตราตายตัว จึงไม่ต้องแปลงตามค่าสกุลเงิน ซึ่งจะถูกกว่าจ่ายเป็นดอลล่าร์ บัตรเยี่ยมชมกลุ่มปราสาทในเสียมเรียบไม่สามารถใช้ได้ที่นี่ ต้องจ่ายต่างหาก การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือเช่ารถตู้จากในตัวเมืองเสียมเรียบได้เลย ราคารวมน้ำมันแล้ว 2,500 – 3,000 บาท เดินทางจากตัวเมืองเสียมเรียบออกเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือสู่เบงเมเลีย ผ่านกะบาลสะเปียลแล้วยิงยาวเข้าเกาะแกร์ได้เลย ถ้าใครเป็นนักปั่นจักรยานก็ใส่กางเกงฟองน้ำจักรยานเผื่อไปเลย…ป้องกันการเป็นหมัน