ลับแล…เสน่ห์ไม่เร้นลับในอ้อมกอดแห่งขุนเขา
ในบรรดาชื่อเมืองทั้งหลายบนผืนแผ่นดินไทยเท่าที่เคยได้ยิน “ลับแล”นั้นเป็นเมืองที่ฟังชื่อแล้วให้รู้สึกลี้ลับชวนฉงนเป็นที่สุด หลายคนที่เติบโตมาในยุคดิจิตอลอาจไม่เคยได้ยินตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับเมืองลับแลหรือเมืองแม่หม้ายที่เคยลือลั่นสมัยเมื่อราว 50 ปีก่อน และหลายคนในยุคนั้นเชื่อว่าดินแดนเช่นนี้เคยมีอยู่จริง
อย่างไรก็ตามถิ่นลับแลที่อยากพาไปสัมผัสกันในวันนี้ เป็นที่รู้จักกันในฐานะอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเลื่องชื่อว่าเป็นถิ่นผลไม้อร่อย และผลผลิตดีมากจนชาวบ้านที่นี่มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดเลยทีเดียว ใครที่ไม่เกิดไม่ทันฟังตำนานเมืองแม่หม้าย หากได้มาเยือนที่อำเภอลับแลแล้ว รับรองว่าต้องได้สัมผัสตำนานสนุกๆ อย่างแน่นอน เพราะตรงบริเวณด้านขวามือของซุ้มประตูเข้าตัวอำเภอลับแลวันนี้ จะปรากฏรูปปั้นหญิงอุ้มลูกและผู้ชายคุกเข่าให้นักท่องเที่ยวได้กระตุกต่อมจินตนาการย้อนกลับไปสู่ยังดินแดนอันลี้ลับที่หากใครได้หลงเข้าไปแล้วก็อย่าหวังว่าจะกลับออกมาได้อีก
จะว่าไปแล้วตำนานเมืองลับแลของไทยเรานั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกันกับตำนานแม่ม่ายนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาอย่างหลากหลายมาก แต่ถ้าจะอ้างอิงเอาตามฉบับของชาวอำเภอลับแลนั้น เล่าไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ชาวลับแลเป็นผู้ที่ได้กิติศัพท์ว่ายึดถือในเรื่องสัจจะวาจามาก และรังเกียจคนที่ไร้ความซื่อสัตย์เป็นที่สุด วันหนึ่งได้มีชายหนุ่มจากต่างเมืองหลงทางเข้าไปยังดินแดนลับแล และเกิดไปสะดุดตากับหญิงสาวชาวพื้นถิ่นนางหนึ่ง เขาจนตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กินกับนางจนกระทั่งมีลูกด้วยกันหนึ่งหน่อ วันหนึ่งหญิงลับแลได้ออกไปหาผักหาปลาตามปกติ ทิ้งให้สามีดูแลลูกอยู่ที่บ้านตามลำพัง แต่วันนั้นลูกน้อยเอาแต่ร้องไห้โยเย ทั้งปลอบทั้งขู่อย่างไรก็ไม่หยุด ในที่สุด พ่อก็เลยแกล้งโกหกลูกไปว่า “หยุดร้องเสียเถอะ แม่มาแล้วๆ” โดยคิดว่าภรรยายังคงหากินอยู่นอกบ้าน แต่บังเอิญในวันนั้น ภรรยาของเขากลับถึงบ้านเร็วกว่าปรกติ และทันได้ยินเสียงสามีกำลังโกหกลูกอยู่พอดี
แต่ใครจะคาดคิดว่า White Lie ที่สามีเจตนากล่อมลูก เป็นอะไรที่ฝ่ายภรรยารับไม่ได้เลย และร้ายแรงถึงขั้นต้องเนรเทศสามีออกไปนอกเมือง แม้ว่าตนเองจะต้องกลายเป็นแม่ม่ายก็ตาม และด้วยความรักความผูกพันที่ยังพอมี ก่อนจากกันนางได้มอบของที่ระลึกให้สามีถุงหนึ่ง และสั่งกำชับนักหนาว่า ห้ามเปิดดูจนกว่าจะออกไปพ้นเขตเมืองลับแล แต่ในที่สุดหลักจากหิ้วถุงปริศนาติดตัวไปซักพักจนรู้สึกว่าถุงนั้นหนักขึ้นเรื่อยๆ ชายหนุ่มจึงก็ผิดสัญญาโดยตัดสินใจเปิดถุงปริศนาออกดู ก่อนจะเห็นว่าข้างในมีแต่แง่งขมิ้นเต็มไปหมด เขาติดสินใจโยนทิ้งเกือบหมดเพื่อปลดภาระอันหนักอึ้ง เหลือติดไว้ในถุงเพียงไม่กี่อันเท่านั้น แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านเดิมของตนเองแล้วเปิดถุงดูอีกที ชายหนุ่มก็ถึงกับผงะเมื่อพบว่า แง่งขมิ้น 2-3 ชิ้นเหลือติดกันถุงมานั้นกลับแปรเปลี่ยนไปเป็นทองคำล้ำค่า!
ที่เล่ามานั้นล้วนเป็นเพียงตำนานปรำปราที่ต้องยอมรับว่า มีผู้เฒ่าผู่แก่หลายคนในอำเภอลับแลวันนี้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และก็อย่าแปลกใจที่เข้าอำเภอลับแลแล้วจะเห็นป้าย“เขตห้ามพูดโกหก”ติดอยู่หน้าตลาดสดในทุกวันนี้
ไม่ว่าตำนานจะเล่าสืบมาอย่างไร ถ้าได้มาเยือนเมืองลับแลแล้ว จะพบว่าที่นี่เป็นอำเภอเล็กๆ ที่น่าถวิลหา ตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อน พื้นราบเป็นนาข้าว ส่วนที่สูงบนภูเขาเป็นสวนผลไม้แบบผสมคล้ายคลึงกับสวนสมรมทางภาคใต้ คือผสมปนเปไปด้วยไม้ผลนานาชนิด ไม่มีการแยกแปลงแยกชนิด อาศัยธรรมชาติให้เกื้อกูลกันเอง นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะผลไม้แต่ละชนิดออกผลผลิตไม่พร้อมกัน ทำให้เจ้าของสวนสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ทั้งปี ในสวนผสมที่ดูเหมือนป่ารกทึบของชาวลับแล จะมีต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติอยู่เพียงแค่ 20% เท่านั้น ที่เหลือเป็นต้นทุเรียน ลางสาด และลองกอง ซึ่งให้รสชาดดีมากจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองลางสาด แต่ปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนเป็นเมืองลองกองหวาน เพราะผลผลิตให้ราคาดีกว่าถึงกว่าเท่าตัว ส่วนทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแลของที่นี่นั้น ก็รสชาดดีไม่แพ้ทุเรียนทางแถบภาคตะวันออกเลย ถ้ามีโอกาสแวะมาเที่ยวในช่วงที่ผลไม้กำลังออก จะพบว่าราคาผลิตผลในตลาดกลางผลไม้ เทศบาลตำบลหัวดงนั้น จะถูกกว่าซื้อที่อื่นถึงครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ปีนี้อากาศแล้งจัดแถมโดนไฟป่าเผาผลาญซ้ำเติม เลยทำให้สวนทุเรียน ลองกอง และลางสาดของที่นี่เสียหายไปหลายพันไร่ ผลผลิตทางการเกษตรของชาวลับแลช่วงกลางปีนี้เป็นเช่นไรก็ไม่รู้ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะยังพอมีให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มรสแน่นอน ราคาอาจสูงหน่อย แต่ก็คิดว่าเป็นการช่วยเหลือชาวสวนผู้เดือดร้อนก็แล้วกัน
หากว่ากันถึงแหล่งท่องเที่ยวประจำอำเภอแล้ว ลับแลอาจไม่ได้มีอะไรที่อลังการน่าตื่นตาตามธรรมชาติให้ชมมากมายนัก อย่างเช่น น้ำตกแม่พูล นั้นก็เป็นเพียงน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยวิธีการก่อปูนให้เกิดการไหลลดหลั่นจากบนเขาสูงเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ แต่ถ้าชอบชมโบราณสถานก็อาจถูกใจ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ในเขตตำบลทุ่งยั้ง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท โบราณสถานสำคัญภายในวัดก็คือพระเจดีย์ทรงลังกาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตรงด้านหลังพระวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระประธานเฒ่า หรือหลวงพ่อโต อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองลับแลมาก วัดแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของขุนนางในสมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสเมื่อปีพ.ศ. 2444
มาเที่ยวถิ่นลับแลให้ได้อรรถรส ต้องมาในช่วงที่ชาวบ้านเก็บทุเรียนหลง-หลินลับแล ระหว่างเดือนมิ.ย.โดยประมาณ แต่ถ้ามาเที่ยวนอกฤดูเก็บผลไม้ ก็จะได้สัมผัสกับบรรยากาศบ้านเมืองชนบทอันสงบเงียบโอบล้อมด้วยขุนเขา ถ้ามีเวลา ก็อย่าลืมแวะไปชมศูนย์กลางการทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณที่บ้านคุ้ม หมู่ที่ 4 ตำบลชัยจุมพล แหล่งสาธิตและจำหน่ายผ้าซิ่นตีนจก ภูมิปัญญาพื้นถิ่นซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าชาวลับแลบางส่วนนั้นน่าจะมีเชื้อสายชาวไท-ยวน หรือพวกโยนกอพยพมาจากเมืองเชียงแสน ซึ่งมีความถนัดในการทอผ้าชนิดนี้
กล่าวกันว่าสาวชาวลับแลในอดีตต้องทอผ้าได้อย่างน้อยคนละ 1 ผืน สำหรับตนเองไว้ใช้ในพิธีแต่งงาน หรือใส่อวดกันในงานบุญใหญ่ ๆ โดยจะนิยมใช้สีเหลือง เขียว จะเรียกว่าเป็นการฝึกความมีน้ำอดน้ำทนก่อนออกเรือนก็ได้ เพราะการทอผ้าจกนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก พื้นฐานประกอบไว้ด้วยลายหลัก 13 ลาย และลายประกอบมากกว่า 20 ลาย ถ้านักท่องเที่ยวคิดจะอุดหนุนชาวบ้านก็อย่าได้ต่อราคากันมากเลย เพราะกว่าจะทอได้แต่ละผืนนั้นต้องใช้เวลานานมาก.