ตะลักเกี้ยะ(ตลาดน้อย)
ตะลักเกี้ยะ(ตลาดน้อย) ย่านเศรษฐกิจเก่าเจ้าสัวเมืองกรุงฯ
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ไชน่าทาวน์เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทยนั้นอยู่ในโซนถนนเยาวราช สำเพ็ง และราชวงศ์ แต่คงมีคนในยุคนี้ไม่มากนักที่พอจะทราบว่า พื้นที่ใกล้เคียงกับเยาวราชในอดีตสมัยกว่าสองร้อยปีที่แล้วนั้น(สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ยังมีชุมชนชาวจีนใหญ่อีกแห่งที่มีขนาดย่อมกว่า และเป็นที่เรียกขานกันว่า ตลาดน้อย ซึ่งเป็นการขยับขยายออกมาจากย่านตลาดสำเพ็งนั่นเอง นับเป็นอีกตลาดการค้าในย่านชุมชนชาวจีนในสยามที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
ด้วยเหตุนี้เอง ตลาดน้อย จึงนับเป็นชุมชนเก่าแก่อีกแห่งที่น่าค้นหาสำหรับคนที่ชอบเดินย้อนร้อยอดีตของเมืองกรุงฯ และนับว่าเป็นโชคดีที่วันนี้โครงสร้างเดิมๆ หลายสิ่งหลายอย่างยังคงหลงเหลือให้เราได้เข้าไปเที่ยวไปสัมผัส แม้ว่าจะมีอายุเกินร้อยปีไปแล้ว
เส้นทางเดินเที่ยวชมตลาดน้อยที่ดีที่สุด คือ เดินซอกแซกเข้าไปใน ซอยวานิช 2 ซึ่งเป็นถนนสายแคบๆ เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบนพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเขตสัมพันธวงศ์ หาไม่ยากเลยท่าไปตั้งต้นแถวๆ หน้าศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ข้างท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา เมื่อไปถึงหน้าห้างแล้ว ก็จะเห็นป้ายซอยวานิช 2 จะอยู่ทางด้านขวามือสุด(มีเพิงร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้ออยู่ปากซอย) ปากซอยไม่กว้างนัก เดินเข้าไปสัก 100 เมตร ก็จะเห็นยอดแหลมโบสถ์คริสต์ทรงกอธิคของ วัดแม่พระลูกประคำ (วัดกาลหว่าร์) ตั้งตระหง่านอยู่ทางซ้ายมือ เป็นโบสถ์ที่สร้างขึ้นโดยชาวโปรตุเกส ตัวอาคารมีอายุได้ 126 ปีแล้ว ถือเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว สิ่งที่ดูน่าชมมากที่นี่ คือ รูปปั้น 2 รูป ได้แก่ รูปแม่พระลูกประคำ และ รูปพระศพของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดมาตั้งแต่ยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และยังคงนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาสำคัญจวบจนปัจจุบัน โดยจะนำมาแห่รอบโบสถ์ใน วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Friday) ของทุกปี
โบสถ์แห่งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกของกลุ่มชาวจีนย่านตลาดน้อย(คริสตังจีน) ได้อย่างเด่นชัด
จุดน่าสนใจถัดไปที่น่าแวะชมกัน ได้แก่ อาคารเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นที่ทำการของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ในปัจจุบัน แต่ทว่าเมื่อสมัยแรกสร้างในปี พ.ศ.2451 นั้น ที่นี่คือที่ทำการของ บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ต้นแบบธนาคารไทย ซึ่งเป็นร่องรอยที่บ่งบอกถึงความเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในพื้นที่ย่านนี้ได้อย่างดี
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตลาดน้อยเป็นแหล่งการค้าและขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญ โดยมีข้าวเป็นสินค้าสำคัญซึ่งได้สร้างความร่ำรวยให้กับบรรดาเจ้าสัวต่างๆ และเป็นรากฐานในการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจการเงินการธนาคารในที่สุด
เมื่อเอ่ยถึงเจ้าสัวแล้ว ก็น่าจะแวะไปเลียบชมคฤหาสน์แบบจีนเก่าแก่ของพวกเขากันหน่อย ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีที่ยังมีเหล่าทายาทอนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน โดยเฉพาะบ้าน โซวเฮงไถ่ (บ้านดวงตะวัน) อายุกว่า 200 ปีของคนกระกูล โปษยะจินดา ที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอกเล็กๆ ริมเจ้าพระยา อยู่ไม่ไกลจากธนาคารไทยพาณิชย์มากนัก เดินลึกเข้าไปในซอยอีกนิดเดียว ก่อนถึงวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา สาขาวัดเอี่ยมละออ ก็จะเห็นป้ายบอกทางเข้าตรอกศาลเจ้าโรงเกือก ทางซ้ายมือ เดินตามตรอกเล็กๆ นี้ไปเรื่อยๆ เจอแม่น้ำแล้วก็จะเจอทางบังเลี้ยวขวา เดินต่อไปอีกแค่อึดใจ ก็จะพบกับบ้านโซวเฮงไถ่ทางขวามือ ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นตรงบานประตูสีแดงคล้ายๆ ศาลเจ้าจีน
เก๋งจีนที่เคยโอ่อ่าที่สุดแห่งหนึ่งในยุคเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์หลังนี้ สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยน ผังบ้านมีลักษณะ สี่เรือนล้อมลาน (ซื่อเหอหยวน) ประกอบด้วยอาคาร 4 ด้านล้อมลานหินกว้าง ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูทางเข้า ด้านหลังเป็นเรือนประธาน ที่เก็บป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ โครงสร้างส่วนใหญ่ใช้ไม้แกะสลักลงลิ่มโดยไม่ใช้ตะปู ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างอันมั่นคงตามแบบโบราณ
ถัดจากบ้านโซวเฮงไถ่ไปตามตรอกเล็กๆ อีกนิดเดียวก็จะพบพื้นที่โล่งและเก๋งจีนโบราณอีกบางส่วนภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณแถวนี้เคยเป็น ตลาดเจ้าสัวสอน อันคึกคัก เพราะมีตึกแถว โรงเรือน และแผงร้านให้เช่าขายของ ผู้เป็นเจ้าของนั้นเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนนามว่า หลวงอภัยวานิช (สอน) บุตรชายของ พระอภัยวาณิช หรือ เจ้าสัวจาด เจ้าของคฤหาสน์โซวเฮงไถ่ ผู้ร่ำรวยขึ้นมาจากอาชีพค้าสำเภาและนายอากรรังนก
ย่านตลาดน้อยนั้น ยังมีอะไรให้เดินละเลียดชมมากมาย มีมุมถ่ายรูปสวยๆ เยอะพอสมควร เพราะติดริมแม่น้ำและมีมุมเก่าๆ ให้ได้เสาะแสวงหาเอาตามใจชอบ ทั้งซากรถเก่า กำแพงเก่า และกองอะไหล่รถยนต์ ร่องรอยซึ่งบอกให้รู้ว่า ที่นี่เคยเป็นแหล่งกำเนิดธุรกิจค้าอะไหล่รถมือสองของไทยที่เรียกติดปากกันว่า เซียงกง ซึ่งมีจุดเริ่มมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
เดินเที่ยวจนหนำใจแล้วก็อย่าลืมปิดท้ายทริปด้วยบรรยากาศสวยๆ เห็นวิวตลาดน้อยและโค้งน้ำเจ้าพระยาที่ร้าน River Vibe Restaurant & Bar ซึ่งอยู่บนชั้น 8 ของอาคารริเวอร์วิวเกสต์เฮ้าส์ ทางเดินไปหาไม่ยาก อยู่ในซอยดวงตะวัน ถ้าเลี้ยวขวาออกจากประตูบ้านโซวเฮงไถ่ แล้วมองสูงไปยังยอดตึกสูงริมน้ำก็จะเห็นตึกที่มีป้าย RIVERVIEWGUESTHOUSE ซึ่งสามารถเดินลัดตรอกไปถึง ในเวลาแค่ไม่กี่นาที.