หลากมุมสบายใจ ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ
กรุงเทพฯ เรามีอนุสาวรีย์อยู่มากมาย แต่ถ้าจำกัดวงเฉพาะที่ตั้งอยู่กลางสี่แยกใหญ่มีลักษณะเป็นวงเวียนนั้น เท่าที่นึกออกกัน
ก็ได้แก่ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เขตบางเขน, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี และอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เขตธนบุรี ซึ่งที่หลังสุดนี้ คนในพื้นที่ไม่นิยมเรียกย่อๆ ว่าอนุสาวรีย์ฯ แต่จะเรียกว่า วงเวียนใหญ่
ทั้งหมดที่ว่า อนุสาวรีย์ชัยฯ ดูจะเป็นตัวแทนของอนุสาวรีย์ทั้งปวงในกรุงเทพฯ ทั้งด้วยขนาดพื้นที่ และการเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่คับคั่งที่สุดย่านหนึ่ง ดั้งนั้นถ้าใครเอ่ยขึ้นมาว่า กำลังจะไปแถวอนุสาวรีย์ฯ ก็เป็นที่รู้กันในอันดับต้นๆ ว่า คงต้องเป็นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแน่ๆ
สำหรับใครที่มีโอกาสผ่านไปย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ และอยากเดินเล่นหาความสำราญใจในช่วงเวลารถติด ในบริเวณรายรอบพื้นที่แห่งนี้มีมุมอันน่ารื่นรมย์อยู่ไม่น้อยเลย นอกเหนือไปจากห้างติดแอร์ และร้านขายเสื้อผ้าราคามิตรภาพ
จุดที่นับว่า ควรค่าแก่การหาโอกาสแวะเข้าไปเที่ยวชมมากที่สุดเลย ก็คงจะเป็น พระราชวังพญาไท ซึ่งอยู่ทางฝั่งถนนราชวิถี ติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
บันทึกไว้ว่า วังแห่งนี้แต่แรกเริ่มพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2452 พระราชทานนามให้ว่า พระตำหนักพญาไท เพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผัก และการเลี้ยงสัตว์ เคยถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญหลายครั้ง ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท ในสมัยรัชกาลที่ 6
หลังผ่านการปรับปรุงพื้นที่ โดยรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และมีการสร้างพระที่นั่งใหม่เพิ่มอีกหลายพระองค์
ถ้าเดินเข้าไปในบริเวณวังพญาไท ก็จะเห็นว่าตัวอาคารเดิมที่มีอายุนับร้อยปีล้วนได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์มาก บรรยากาศรายรอบเต็มไปด้วยแมกไม้เขียวร่มรื่นสดชื่นจริงๆ สามารถเดินเที่ยวชมอย่างอิสระได้โดยรอบบริเวณ หรือจะหามุมนั่งจิบกาแฟเย็นๆ ที่ร้าน กาแฟนรสิงห์ ณ วังพญาไท ก็น่าสนใจเช่นกัน แต่ถ้าต้องการเจาะลึกถึงความเป็นมาของวังแห่งนี้อย่างมีสาระทางวิชาการ ก็คงต้องเดินตามวิทยากรนำชม พระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งมีให้บริการในเวลาก่อนบ่ายโมงครึ่งของทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ จะเพิ่มรอบนำชมตอนเช้าเก้าโมงครึ่งให้อีกรอบ
ออกจากวังพญาไท เดินย้อนมาทางอนุสาวรีย์ฯ จะเห็นป้ายบอกทางเข้า วัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) ปากซอยราชวิถี 18 ซึ่งข้างในมีร้านของกินมากมาย แต่ถ้าเดินไปจนสุดท้ายวัดตรงสะพานข้ามคลองสามเสน จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชามละ 15 บาท ซึ่งบรรยากาศเงียบสงบกว่าแถวรอบอนุสาวรีย์มาก
ส่วนวัดอภัยทายารามนั้น แม้จะไม่ใช่วัดใหญ่ที่มีศิลปะวิจิตรอลังการนัก แต่ก็เป็นวัดที่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นวัดที่ปฏิสังขรณ์โดย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสิน (กาลต่อมาถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ที่วัดปทุมคงคา ในข้อหากบฎ พ.ศ. 2352 หลังจากรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคตเพียงอาทิตย์เดียว) สิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้คือใบเสมาหินรอบโบสถ์ ซึ่งมีลวดลายรูปแบบที่ผิดไปจากธรรมเนียมทั่วไป โดยเป็นแบบโก่งคิ้วทับซ้อนกับแบบสายสกุลอยุธยา อธิบายแบบบ้านๆ ก็เป็นลวดลายผสมระหว่างวัดกษัตริย์สร้าง และวัดสามัญชน ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านตีความว่าเป็นการซ่อนนัยยะทางการเมือง
จากท้ายวัดอภัยทาราม ซึ่งอยู่ติดคลองสามเสน ถ้าเดินเลียบตามทางเดินเลียบคลองไปทางด้านขวามือ จะเป็นเส้นทางลัดเลาะไปออกท้ายซอยราชวิถี 14 ได้
ส่วนซอยราชวิถี 12 ซอยที่อยู่ใกล้อนุสาวรีย์ชัยฯ ที่สุดนั้น หลายคนอาจจะไม่ทันสังเกตว่าคือซอยที่เลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมตึกนั่นเอง ซึ่งถ้าเดินไปเรื่อยจนสุดซอย ก็จะเจอสะพานข้ามคลองสามเสนไปยัง วัดบ้านเซเวียร์ ศูนย์กลางของคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) แขวงประเทศไทย มุมอันสงบร่มรื่นซึ่งซ่อนตัวอยู่หลัง เกาะพหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัยฯ มานานหลายสิบปี
ยังมีมุมสงบๆ ที่น่าสนใจในย่านนี้ อยู่อีก 2 แห่งที่อยากแนะนำ แห่งแรกต้องเดินข้ามสะพานลอยไปยังฝั่ง เกาะดินแดง แล้วเดินไปตามถนนราชวิถีอีกราว 5 นาที ก็จะพบกับ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง ตรงปากซอยราชวิถี 4 มุมฆ่าเวลาตอนรถติดได้อย่างดีเยี่ยม เปิดให้บริการอังคาร-เสาร์ ระหว่างเวลา 8:30-20:00 น. และวันอาทิตย์ 9:00-17.00 น.
ส่วนอีกแห่งนั้นอยู่อีกฝั่งถนนหน้าห้องสมุดฯ ซึ่งก็คือ สวนสันติภาพ สวนป่าขนาดย่อมย่านใจกลางเมือง ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเชื่อมระหว่างฝั่งถนนราชวิถีและซอยรางน้ำ สัญลักษณ์ประจำสวนแห่งนี้คือรูปนกพิราบคาบช่อดอกมะกอก 5 ดอก ทำจากทองเหลืองรมดำแทนความหมายถึง สื่อสันติภาพของโลก ซึ่งจำลองจากภาพวาดลายเส้นผลงานของ ปิกัสโซ จิตรกรเอกของโลก
สวนแห่งนี้เปิดบริการเป็นทางการในปี 2541 โดยตั้งชื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึงวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นวันเริ่มต้นแห่งสันติภาพของมวลมนุษย์ชาติด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2488
ปีนี้นับเป็นปีที่ 20 ของสวนสันติภาพแห่งนี้แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องบรรยายกันให้มากความว่า พรรณไม้ข้างในนั้นได้หยั่งรากลึกและช่างมีบรรยากาศร่มรื่นน่าเข้าไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์สักเพียงใด.